เมื่อ 100 ปีที่แล้ว สยามไปร่วมงาน Paris EXPO 1900

พื้นที่จัดงานขนาดใหญ่กว่า 500 เอเคอร์ ในกรุงปารีส (ภาพจาก wikipedia.org)
โปสเตอร์งาน (ภาพจากwikipedia.org)

งานแสดงสินค้านานาชาติ หรือ งาน EXPO วันนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะเห็นและจัดกันมากหลายครั้งจนคุ้นเคย

หากที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นงาน EXPO เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ที่ไทยเราได้รับเชิญไปร่วมงานไกลถึงเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส

จากการค้นหาเอกสารเก่า ที่หอสมุดแห่งชาติโดย เอนก นาวิกมูล ภายหลังจากเดินทางไปฝรั่งเศส และได้เห็นอัลบั้มการประมวลภาพสิ่งของที่ไทยส่งไปร่วม Paris EXPO 1900 (The Paris Exposition Universelle of 1900 ) หรือ งานแสดงสินค้านานาชาติที่ปารีส พ.ศ. 2443

รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัด งาน Paris EXPO 1900 หรืองานแสดงสินค้านานาชาติที่ปารีส สยามเองก็ได้รับเชิญไปร่วมงานดังกล่าว  หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ชะลอการตอบกลับไว้ก่อนจนกว่าพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนฝรั่งเศส และได้พบปะกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสเสียก่อน

กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ จึงทรงมีหนังสือลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2439 ไปยังนายอาเดอร์ฟราน ทูตฝรั่งเศส แจ้งกลับไปตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5

ข้อมูลจาก “แจ้งความเรื่องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์กรุงปารีส ปีคฤสตศักราช 1900 ส่วนของกรุงสยาม” สรุปว่า  วันพุธที่ 12  มกราคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสที่ประชุมว่า เมื่อเสด็จยุโรป ประทับที่ปารีส รัฐบาลกรุงฝรั่งเศสกราบบังคมทูลร่วมแสดงงานพิพิธภัณฑ์ก็ทรงรับจะช่วย

หากเคยมีงานในลักษณะนี้มาแล้ว ซึ่งสยามส่งของไปช่วยและพระองค์ทรงออกพระราชทรัพย์ไปก่อน แต่ของที่ส่งไปขายไม่ได้ ต้องขาดทุนมากมาย

เมื่อเสด็จยุโรปครั้งนี้ (7 เมษายน – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440) ได้ทอดพระเนตรการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่   สตอกโอล์ม ประเทศสวีเดน ทรงทราบว่าการจัดของของสยามแต่ก่อนๆ มา เข้าใจงานไม่ถูก จึงได้ขาดทุน เพราะคิดว่าเป็นการจัดประกวดของและสินค้าเหมือนจัดมิวเซียม ต้องมีตัวอย่างของครบแทบทุกชนิดไปแสดง

ผู้คนที่มาร่วมชมงาน Paris EXPO 1900 (ภาพจากwww.arthurchandler.com)

ของบางอย่างมีค่ามากเกินความต้องการของมหาชน บางอย่างเช่น ขนนกกระเต็น ก็ไม่มีใครซื้อไปทำอะไร บางอย่างเช่น แห, อวน เป็นของดีสำหรับหาปลาในสยาม ออกไปตั้งครั้งใดก็ได้รางวัลเหรียญทองคำทุกคราว แต่ก็ไม่มีใครสั่งซื้อ ทีของบางอย่างเขาต้องการ กลับไม่พอขาย

แท้จริงแล้ว หัวใจของงานพิพิธภัณฑ์มีดังนี้

งานประชุมการค้าขายใหญ่ซึ่งรัฐบาลอุดหนุน บำรุงสินค้าพาณิชยการขึ้น พวกที่จัดของไปตั้งก็เลือกของที่เป็นวิชาช่างหรือสินค้า หรือเครื่องจักรกลคิดใหม่โดยมาก หรือของเก่าที่คาดว่าเป็นที่ต้องการของคนมาดูได้สั่งซื้อต่อไป เมื่อตรวจให้รางวัลแล้ว ก็เป็นเครื่องโอ้อวดได้ จะได้ขายได้ต่อไป เพราะฉะนั้นต้องมีของล่อตาชักชวนให้ดู จึงจะขายของได้

อีกอย่างในบริเวณโรงแสดงมีที่กินดื่ม ที่ดูเล่นสนุกสนานคล้ายออกร้านภูเขาทอง แต่มีคุณวุฒิผิดกันมาก ฉะนั้นจึงเห็นว่า ของจะขาย กับของที่จะสั่งไป ต้องเป็นของถูก เป็นของที่ระลึก จึงควรจัดดังนี้

ให้มีโรงแสดงห้องหนึ่ง ประดับประดาอย่างไทย ประดับอาวุธตามผนัง ตั้งโต๊ะและชั้นวางของ มีที่นั่งพักกลางห้อง มีของมีราคาจัดแสดงและจำหน่าย มีคนแต่งเป็นไทยดูแลและจำหน่ายของ, ลานหน้าโรงแสดงถึงแม่น้ำ จัดเป็นสวน มีน้ำพุ หรือบ้านเรือนไทย จัดแสดงโขนละครเล็ก และทำขนมสาธิตและจำหน่าย, ในแม่น้ำจะมีแพใหญ่อย่างไทยจอด ในแพมีคนแต่งตัวอย่างไทยขายของต่างๆ อาจมีขับร้องตีโทน หรือดีดจะเข้

เรือหลากชนิดจากประเทศต่างๆ ที่มาร่วมงาน EXPO (ภาพจาก www.arthurchandler.com)

ของที่จะจัดไปมี 3 ประเภท คือ 1.ของดีงามที่ไปตั้งเป็นสง่า 2.สินค้าวิชาช่าง ที่คาดว่ามหาชนสนใจ 3.ของขายได้ในราคาถูก น่ารัก แปลกประหลาดเป็นของที่ระลึก

โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเป็นองค์ประธานจัดงาน และทรงทดรองพระราชทรัพย์จ่ายไปก่อน แล้วค่อยจัดการคืนพระราชทรัพย์ทีหลัง

อาคารแสดงสินค้าของอินเดีย, ญี่ปุ่น และไทย (ภาพจาก wikipedia.org)
กำหนดงานต่างๆ ดังนี้ ปลูกโรงเรือนในเดือนตุลาคม ร.ศ. 118 ( พ.ศ. 2442), บรรจุหีบห่อในเดือนพฤศจิกายน แล้วจัดส่งไปปารีสในเดือนธันวาคม กำหนดถึงปารีสเดือนมกราคม มีเวลาตกแต่ง 3 เดือน เริ่มแสดงวันที่ 15 เมษายน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443)

ทั้งทรงมอบหมายเจ้านายหลายพระองค์ดูแลงานส่วนต่างๆ เช่น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระอรรคชายาเธอ และเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) –ม่านรูปภาพเครื่องแต่งช่างปัก เครื่องปักต่างๆ เครื่องดิ้นทำเป็นช่อดอกไม้หรือรูปสัตว์ต่างๆ, กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์-เครื่องแต่งกายคนไปงาน และบ้านไทย, กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ– แพรผ้าม่านประดับ เสื่อ เครื่องลาว กฤชมลายู, กรมหมื่นปราบปรปักษ์-ช้างเผือกใหญ่ผูกเครื่องพร้อม ศาสตราวุธประดับฝา หัวโขน ฯลฯ นอกจากนี้เปิดให้เอกชนที่สนใจส่งของไปร่วมงานได้ด้วย

บรรยากาศภายในศาลาไทยใฝนงาน Paris EXPO 1900

นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่บันทึกรายการสิ่งของที่จะไปจำหน่ายหลายรายการ เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สูง 24 นิ้ว อันละ 100 บาท 1 อัน ขาย 200 แฟรงส์, พระอุโบสถวัดพระแก้ว สูง 15 นิ้ว 54 บาท ขาย 110 แฟรงส์, พลับพลาโรงโขน สูง 12 นิ้ว 14 บาท ขาย 28 แฟรงส์ ฯลฯ


ที่มา: เอนก นาวิกมูล. “ร. 5 ทรงบัญชาการ ส่งของไปร่วมแสดงในงาน EXPO ปี 1900 ที่ปารีสอย่างไร”, ศิลปวัฒนธรรม เมษายน พ.ศ. 2543

เมื่อ 100 ปีที่แล้ว สยามไปร่วมงาน Paris EXPO 1900

บทความน่าสนใจ ที่น่าสนใจอื่นๆ