สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในฝรั่งเศส ประจำวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในฝรั่งเศส 🇫🇷 ดังนี้

1.สถิติวันจันทร์ที่ 8 มิ.ย. 2563 (เวลา 14.00 น.)

– ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 154,188 ราย (เพิ่มขึ้น 211 ราย)

– รักษาอยู่ที่ รพ. 12,315 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 145 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่ที่ รพ. ลดลงจากวันก่อนหน้า 146 ราย (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 14) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 71,602 ราย (เพิ่มขึ้น 245 ราย)

– อาการหนัก 1,024 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 23 ราย นับเป็นวันที่ 61 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลงจากวันก่อนหน้า (จำนวน 70 ราย)

– เสียชีวิตที่ รพ. 18,859 ราย (เพิ่มขึ้น 55 ราย) และเสียชีวิตที่บ้านพักคนชราและที่ศูนย์การแพทย์สังคม (établissements médico-sociaux) 10,350 ราย (เป็นสถิติวันที่ 2 มิ.ย.โดย ก.สาธารณสุขจะอัพเดทข้อมูลส่วนนี้ในวันที่ 9 มิ.ย.) **รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 29,209 ราย (เพิ่มขึ้น 55 ราย) **


2. การใช้มาตรการ chômage partiel

รมว.แรงงานให้สัมภาษณ์วิทยุ franceinfo เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ว่า เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. มีชาวฝรั่งเศสอยู่ภายใต้มาตรการพักงานโดยได้เงินเดือน (chômage partiel) จำนวน 8.6 ล้านคน (ยังไม่มีสถิติของเดือน พ.ค.) ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งตรวจสอบบริษัทกว่า 50,000 แห่งว่ามีการทุจริตหรือไม่ (ให้พนักงานทำงานตามปกติหรือทำงานจากที่พักแบบเต็มเวลา แต่ขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามมาตรการ chômage partiel) ซึ่งต้องระวางโทษหนักทั้งทางบริหาร ทางการเงินและทางอาญา โดยเข้าใจว่าอาจมีบางบริษัทที่ไม่คุ้นเคยกับมาตรการดังกล่าวและอาจดำเนินการผิดพลาดไปซึ่งจะต้องคืนเงินชดเชยให้แก่รัฐ แต่หากมีบริษัทใดเจตนากระทำผิด ก็จะได้รับการลงโทษ

นอกจากนี้ ก.แรงงานจะหารือกับผู้แทนสหภาพแรงงานและสภานายจ้าง ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. เป็นต้นไป เกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในฝรั่งเศสและในยุโรป รวมทั้งการเปลี่ยนรูปแบบของมาตรการ chômage partiel เป็นการลดเวลาทำงานของพนักงานแต่ยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ซึ่งนายจ้างจ่ายเงินเดือนในอัตราปกติให้แก่ลูกจ้าง แต่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเพื่อแลกกับการไม่ปลดพนักงานออก โดย ก.แรงงานประสงค์ให้สามารถมีมาตรการดังกล่าวได้เป็นระยะเวลา 1 หรือ 2 ปี ซึ่งจะมีการเจรจาในแต่ละบริษัทต่อไป

3. การแก้ไขปัญหาหน้ากากผ้าค้างสต็อก

รมช.ก.เศรษฐกิจและการคลัง (นาง Agnès Pannier-Runacher) ให้สัมภาษณ์วิทยุ RTL เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ว่า รัฐบาลประสงค์ให้บริษัทฝรั่งเศสรายใหญ่หันมาสั่งซื้อหน้ากากผ้าที่ผลิตในฝรั่งเศสให้แก่พนักงานแทนการสั่งซื้อหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งนำเข้าจาก ตปท. เพื่อพยายามบรรเทาปัญหาหน้ากากผ้าค้างสต็อกของบริษัทฝรั่งเศสบางรายที่ได้หันมาผลิตหน้ากากผ้าเพื่อรับมือกับวิกฤติ covid-19 ซึ่ง ก.เศรษฐกิจและการคลังมีกำหนดหารือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับแผนดำเนินการผลิตหน้ากากผ้าในฝรั่งเศสในช่วงบ่ายของวันที่ 8 มิ.ย. โดยก่อนหน้านี้ รมช.ก.เศรษฐกิจและการคลังได้เคยแจ้งเตือนเกี่ยวกับการผลิตหน้ากากผ้าที่เกินความต้องการภายในประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พ.ค. แล้ว และรัฐบาลได้สั่งซื้อหน้ากากที่ผลิตในฝรั่งเศสแล้ว

4. การเปิดให้เดินทางไปดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสได้อย่างเสรี

รมว.ดินแดนโพ้นทะเลแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.2563 เป็นต้นไป จะสามารถเดินทางไปดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสได้อย่างเสรีโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลจำเป็นเกี่ยวกับครอบครัวหรือเกี่ยวกับการทำงาน และจะมีการทยอยเพิ่มเที่ยวบินจากฝรั่งเศส Metropolitan ไปยังดินแดนโพ้นทะเล และเลิกจำกัดโควต้าผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 200 คน) เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.จะเริ่มทดลองมาตรการกักตัวแบบระยะสั้นสำหรับผู้ที่เดินทางจากฝรั่งเศส Metropolitan ไปยัง Guadeloupe, Martinique, Saint-Martin, Saint-Barthélemy และ La Réunion โดยผู้โดยสารที่ได้ตรวจหาเชื้อไวรัส covid-19 (test PCR) ภายใน 72 ชม. ก่อนเที่ยวบิน และหากไม่พบเชื้อไวรัส ก็จะสามารถเดินทางโดยได้รับความสะดวกระหว่างการตรวจคนเข้าเมือง (ปัจจุบันใช้เวลาถึง 3 – 4 ชม.) และจะได้รับอนุญาตให้กักตัวเป็นเวลา 7 วัน (จากปกติต้องกักตัว 14 วัน) และรับการตรวจหาเชื้ออีกครั้งหนึ่งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลากักตัว ก่อนสามารถเดินทางได้อย่างเสรีในพื้นที่ โดยผู้ที่ประสงค์เดินทางไปยังพื้นที่เหล่านี้สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อให้สั่งตรวจหาเชื้อได้ หรือสามารถติดต่อห้อง lab ได้โดยตรง โดยแสดงการสำรองบัตรโดยสารเครื่องบิน

5. การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐให้ค้ำประกันเงินกู้

นาย Nicolas Dufourcq, Director-General ธ. Bpifrance แจ้งว่า ณ วันที่ 8 มิ.ย. มีบริษัทมากกว่า 500,000 แห่งที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ซึ่งรัฐค้ำประกัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 8.5 หมื่นล้านยูโร และคาดว่าน่าจะมีมูลค่ารวมในอนาคตประมาณ 1 แสนล้านยูโร ขณะที่รัฐบาลได้เตรียมเพดานการค้ำประกันเงินกู้ไว้ถึง 3 แสนล้านยูโร

6. ชาวฝรั่งเศสเริ่มกลับไปปรึกษาแพทย์ในรูปแบบปกติ

สนง.เงินประกันการเจ็บป่วยฝรั่งเศส (Assurance maladie) แจ้งว่ามีจำนวนผู้ปรึกษาแพทย์ทางไกลลดลง 1/3 หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการ lockdown โดยก่อนหน้านี้ มีผู้ปรึกษาแพทย์ทางไกลเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 1 ล้านคน/สัปดาห์ ในเดือน เม.ย. ซึ่งได้ทยอยปรับตัวลดลงเป็น 951,000 ราย ในช่วงสัปดาห์ที่ 11 พ.ค. และ 649,000 ราย และ 647,000 ราย ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค. ทั้งนี้ เนื่องจากชาวฝรั่งเศสได้เริ่มทยอยกลับไปปรึกษาแพทย์ในรูปแบบปกติแล้ว

7. ผลกระทบของมาตรการ lockdown ต่อการสั่งซื้อสุกร

มาตรการ lockdown ในฝรั่งเศสส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในฝรั่งเศส โดยมีการสั่งซื้อสุกรลดลงเนื่องจากร้านอาหารต้องปิดให้บริการและมีปัญหาระบบโลจิสติกส์ของการส่งออก กอปรกับยังพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ในโรงฆ่าสัตว์บางแห่งซึ่งต้องปิดทำการชั่วคราว เป็นผลให้มีสุกรคงค้างในฟาร์มเลี้ยงถึง 180,000 ตัว ขณะที่ปกติแล้วตลาดฝรั่งเศสมีความต้องการสุกรประมาณ 80,000 ตัว/วัน หรือ 4 แสนตัว/สัปดาห์ ทั้งนี้ การที่มีสุกรในฟาร์มเกินเวลาที่ควรขายสุกรให้แก่โรงฆ่าสัตว์ส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (ยังคงต้องให้อาหารสัตว์เป็นเวลานานเกินจำเป็น ขณะที่สุกรได้ขนาดเหมาะสมสำหรับการขายให้แก่โรงฆ่าสัตว์แล้ว จึงไม่คุ้มทุนราคาขาย) และยังอาจต้องเสียค่าปรับกรณีสุกรมีน้ำหนักมากเกินไปอีกด้วย

8. ผลกระทบต่อบริษัทท่องเที่ยวฝรั่งเศส

นาย Jean-Pierre Mas ปธ. กลุ่มบริษัทการท่องเที่ยวฝรั่งเศสแจ้งว่า ปัจจุบันมีการสำรองที่พักและการเดินทางในช่วงฤดูร้อนของชาวฝรั่งเศสเพียงร้อยละ 20 ที่เป็นการเดินทางไป ตปท. (สเปนและกรีซเป็นหลัก) ขณะที่โดยปกติมีสัดส่วนร้อยละ 66 ของการเดินทางไปพักผ่อนทั้งหมด และคาดว่าผู้ประกอบการบริษัทจัดการท่องเที่ยวฝรั่งเศสจะสูญเสียรายได้ในปี 2563 ถึง 600 – 1 พันล้านยูโร แม้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้วก็ตาม

9. การเรียกร้องให้คงเงินช่วยเหลือแก่ผู้ขับรถแท็กซี่

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2563 สหภาพแรงงานแท็กซี่ 8 แห่ง (CFDT, CGT, FNDT, FO, FTI 75, CSSCTP/Gescop, SUD, UNT parisiens) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยังคงเงินช่วยเหลือจำนวน 1,500 ยูโร จนกว่าจะมีการฟื้นฟูของการท่องเที่ยวในฝรั่งเศส (เดิมรัฐบาลมีกำหนดให้เงินช่วยเหลือดังกล่าวถึงปลายเดือน พ.ค.) เนื่องจากถึงแม้จะได้มีการผ่อนปรนมาตรการ lockdown ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ค. แล้ว แต่ยังไม่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าไรนัก โดยผู้ขับแท็กซี่บางรายยังคงมีรายได้ลดลงถึงร้อยละ 90 🚖

ข่าว-กิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ