ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา เป็น “วันครูแห่งชาติ” ผมได้มอบคำขวัญว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี” ก็เพื่อจะสะท้อนให้เห็นบทบาท ความสำคัญ ของผู้ที่เป็นครู อาจารย์ ที่มีต่อศิษย์ ต่อประเทศชาติ  โดยที่ก็ต้องมีการพัฒนาตนเองให้เข้ากับยุคสมัย และบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  การปรับตัวของครูนั้น จะเปรียบเสมือนคลื่นลูกแรก ๆ ในทะเลที่จะสร้างคลื่นลูกต่อ ๆ มา ก็คือเราทุกคน ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญตามหน้าที่ ความรับผิดชอบของตน ที่มีต่อส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น การปฏิรูปในวงการครู และการปฏิรูปด้านการศึกษา จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในระยะยาว

ทั้งนี้ การเป็นครูมิเพียงเป็นแต่กาย แต่นาม  แต่ต้องเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ  ยกตัวอย่าง “ครูไอซ์” ดำเกิง มุ่งธัญญาซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาทั้ง 2 ข้าง แต่สามารถเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งผมเคยกล่าวถึงมาแล้ว ผมขอชื่นชมสื่อมวลชน ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียล ที่ได้นำเรื่องราวดี ๆ ของครูไอซ์ มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน ในช่วงวันครูปีนี้ สำหรับวันนี้ ผมก็ได้รับข้อมูลดี ๆ จากผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาของเรา ที่ไม่อยากจะเก็บไว้คนเดียว แต่ก็อยากจะนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนได้ฟังสัก 2 เรื่องนะครับ

เรื่องแรก สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการทำงานของ “ครู กศน.” ที่ต้องเข้าไปฝังตัว ในพื้นที่ ณ ชุมชนห่างไกล โดยไม่ได้คำนึงถึงความสุข และครอบครัวของตนเอง ต้องปฏิบัติงานบนพื้นที่สูง มิเพียงแต่สอนหนังสือเท่านั้น แต่ครูอาสาฯ เหล่านั้น แทบจะเป็นหลักให้กับชุมชนในหลาย ๆ เรื่อง  ช่วยสร้างวิถีชีวิต และมุมมองใหม่ ๆ ให้กับชุมชน ครูทั่วไปเข้าไม่ถึง แต่ครู กศน. เป็นหน่วยซีล หน่วยแนวหน้าที่อยู่เคียงข้างประชาชน ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำริและมอบให้ ครู กศน. ได้ช่วยกันดูแลประชาชน ที่ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นถิ่น หรือชนกลุ่มน้อย แต่ครูเหล่านี้ กลับไม่มีความมั่นคงในอาชีพ หลายคนไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ  ครั้นเมื่อมีโอกาสเติบโตในตำแหน่งแห่งหนใหม่ ก็ต้องก้าวออกไป ปล่อยให้ชาวบ้านเคว้งคว้าง นั่งรอครูคนใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว กว่าจะลงตัวในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังนั้น “ครู กศน.” ไม่ได้ทำงานในองค์กรที่มั่นคง แต่เขาเหล่านั้น ต้องเสี่ยงภัยตามแนวตะเข็บชายแดน ไม่แตกต่างจาก ตำรวจ ทหาร ที่อยู่ชายขอบพรมแดนประเทศ เพื่อให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และพี่น้องประชาชน  ให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาตนเอง ไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นเหยื่อของผู้อื่น

ครู กศน. จึงเปรียบเสมือน “หน่วยอารักขาทางปัญญา” สำหรับประชาชนในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินนี้ ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับการป้องกัน ไม่ให้ประชาชนต้องถูกรุกรานในชีวิต และไม่ทิ้งถิ่นฐานไปไหน  อันจะช่วยให้ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนเกิดความเข้มแข็ง สิ่งที่รัฐบาลจะช่วยดูแล คือความมั่นคงในอาชีพ สวัสดิการที่จะเอื้อให้เขาสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ในระหว่างที่พวกเรานอนหลับสบายในห้องแอร์ แต่พวกเขาต้องนอนในอาศรม หากมีโอกาส ผมก็อยากเชิญชวนพี่น้องประชาชน ได้เดินทางไปเยี่ยมอาศรมของครู กศน. บนพื้นที่สูงบ้าง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อครู กศน. ที่แบกภาระใหญ่หลวงนะครับ

เรื่องที่สอง “โครงการห้องสอบสีขาว” ของมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ที่มีคติพจน์ คือ คุณธรรมเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์มีเกียรติ โดยผู้ที่เข้ามารับการศึกษาในหลักสูตรชั้นสูงของสถาบัน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสมควรที่จะเป็นแบบอย่างของการยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของผู้ที่ได้รับการปลูกฝังเป็นอย่างดี อันสมควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักเรียน และเยาวชนของชาติ ดังนั้น ทางสถาบันจึงได้เริ่ม “โครงการห้องสอบสีขาว” นี้ขึ้น กับนักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ตั้งแต่ปี 2558 โดยโครงการห้องสอบสีขาว หมายถึง ห้องสอบที่ปราศจากการทุจริตของผู้เข้ารับการสอบ แม้ไม่มีผู้คุมสอบก็ตาม เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกของนักศึกษา ที่จะจบไปเป็น “ครู” ในอนาคต โครงการนี้เป็นการให้เกียรติกับนักศึกษา และเชื่อมั่นในตัวนักศึกษา ว่าจะไม่คิด หรือกระทำการทุจริตในการสอบ โดยคาดหวังว่า คนที่จะเป็นครูต้องเป็นทั้งกายและใจ โดยครูก็จะต้องเป็นสัญลักษณ์ และตัวอย่างของความถูกต้องอีกด้วย

และ เนื่องในโอกาสวันครูในปีนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่สำคัญของท่าน ในการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก และเยาวชน รวมทั้ง ทุกคนในสังคม อบรมบ่มเพาะศิษย์ด้วยความรัก ความเข้าใจ เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาเพื่อให้ศิษย์ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้ ควบคู่คุณธรรม หนุนนำในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพโดยสุจริต ซึ่งบรรดาศิษย์เหล่านั้น ก็คือทุกคน ทุกสาขาวิชาชีพ ที่ล้วนก็เป็นศิษย์มีครู จะได้ทำหน้าที่ของตน เป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมือง ในการพัฒนาประเทศไทย ให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคงต่อไปนะครับ

พี่น้องประชาชนที่รักเคารพครับ
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ และร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่และลำปาง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 อันได้แก่ เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน ลำปางและลำพูน โดยได้เห็นศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาค สามารถเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ อาทิ GMS, BIMSTECS, ASEAN โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ ผ่านการยกระดับการท่องเที่ยวการค้าการลงทุนและการเกษตร สู่ฐานเศรษฐกิจมูลค่าสูง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจ กับห่วงโซ่อุปทานของโลก  ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

จากการลงพื้นที่ พูดคุยกับพี่น้องประชาชน ผมได้เห็นความเข้มแข็งของชุมชน และก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาทุก ๆ ด้าน ผมจึงได้สอบถามถึงโครงการตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จ ด้วยความร่วมแรง ร่วมใจของประชาชน ภาครัฐ และในพื้นที่ ภายใต้ “แม่แจ่มโมเดล” และ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ที่เป็นการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืนครบวงจร ตั้งแต่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการที่ดิน การลดการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ รวมไปถึงการป้องกันรักษาป่า เป็นต้น
“แม่แจ่มโมเดล” มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตปัญหาไฟป่า หมอกควันที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ ทั้งการลดลงของพื้นที่ป่า แนวทางการจัดการป่า ลักษณะการใช้ที่ดินและรูปแบบของระบบการผลิตที่สัมพันธ์กับปากท้องของประชาชน จากวิกฤตปัญหาได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคส่วนต่าง ๆ และการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ และเชื่อมโยงกับปัญหาด้านอื่น ๆ ผ่านกระบวนการสำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นที่ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศสี และเครื่องสำรวจพิกัด (GPS) รวมทั้งมีการจำแนกขอบเขต การใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินออกจากที่ป่า การจัดทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์จากที่ดินร่วมกัน โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งแล้วกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ใช้กลไกความร่วมมือและฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่มีระบบฐานข้อมูลการจำแนกแนวเขตการจัดการที่ดิน และการจัดการทรัพยากร ที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทำให้ได้รับการยอมรับจนประสบความสำเร็จในแง่ของการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน สามารถลดการเผาป่า และลดค่าความร้อนของพื้นที่ลงได้อย่างชัดเจน ทำให้อำเภอแม่แจ่ม เปลี่ยนจากพื้นที่ที่มีค่าจุดความร้อนมากที่สุดลำดับต้น ๆ เกือบทุกปี มาเป็นพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนน้อยที่สุดในช่วง 60 วันอันตราย ของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2559 รวมทั้ง สามารถขยายไปสู่การแก้ปัญหาในมิติอื่น ๆ ด้วย ผมขอชื่นชมทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม และถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของการขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ในรูปแบบ “ประชารัฐ” ที่จะตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ

ความสำเร็จดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดล พลัส ที่ยกระดับจากการแก้ไขปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้า ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาไฟป่าหมอกควัน ไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง โดยใช้หลักการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แบบบูรณาการ และการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยนอกจากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม ในกรณีของแม่แจ่มโมเดลแล้ว ก็ยังมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ โดยใช้มาตรการด้านกฎหมาย แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิ ผ่านการสำรวจและข้อตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบจัดการร่วม เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้การอนุรักษ์ฟื้นฟู การป้องกันการบุกรุก ส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่มรายได้ การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ทั้งการพัฒนาอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ด้วยการพักชำระหนี้สูงสุดนานถึง 7 ปี ให้กับประชาชนที่หันมาปลูกพืชแนวทางใหม่ เพื่อช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ และเสริมสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งอีกด้วย

ปัจจุบันนั้น เราจะเห็นได้ว่าชาวบ้านนั้น มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของตนเอง เลิกการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด หันมาปลูกพืชผสมผสาน เช่น ไผ่ กาแฟ และพืชเศรษฐกิจที่ผมอยากเล่าให้ฟังก็คือ กรณีอ้อยอินทรีย์วิถีไทย ที่ปลูกง่าย ได้ประโยชน์เร็ว พันธุ์ Earth Safe RK03 ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ เพื่อให้เกษตรกรมาแปรรูป เพื่อจำหน่ายได้เองในครัวเรือน อ้อยพันธุ์นี้สีสวย คั้นน้ำไม่เปลี่ยนสี เก็บรักษาได้นานกว่าพันธุ์อื่น นอกจากนี้ ยังให้ผลผลิตเร็วโดยใช้เวลาเพียง 4 – 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเร็วกว่าอ้อยพันธุ์ปกติ 1 เท่าตัว ผลผลิตต่อไร่สูงที่ 6,400 ลำอ้อยต่อ 1 ไร่ โดย 1 ลำอ้อยจะได้น้ำอ้อยพร้อมดื่ม 10 แก้ว หรือ น้ำตาลไซรัป 200 มิลลิลิตร หรือน้ำตาลผงสีทอง 200 กรัม โดยผลผลิตเหล่านี้จะมีราคาสูงเมื่อออกสู่ท้องตลาด สามารถสร้างรายได้จริง ให้แก่พี่น้องเกษตรกร  กระบวนการผลิต ก็เป็นแบบวิถีอินทรีย์ไทยที่พึ่งตนเองในทุกมิติ และจะช่วยลดการพึ่งพาระบบอุตสาหกรรมได้
นอกจากจะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เป็นเชิงผสมผสานมากขึ้นแล้ว  โครงการ แม่แจ่มโมเดล พลัสยังเป็นการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม ตามแนวทางของศาสตร์พระราชา เช่น พื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และพื้นที่ทำแนวซับน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมในแผนพัฒนานี้แล้วจำนวน 22 ครัวเรือน ในพื้นที่ 65 ไร่ เนื้อที่และจำนวนเกษตรที่ปลูกข้าวโพดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง  3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันจำนวนพื้นที่ป่าก็เพิ่มขึ้น ราว 100 ไร่ จากเดิม 5,300 กว่าไร่ เป็น 5,400 กว่าไร่ ซึ่งความสำเร็จจากการใช้แม่แจ่มโมเดล พลัสนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนว่า ประชาชนต้องการหลุดพ้นจากหนี้สินให้ได้ โดยรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน ในวันนี้ ความสำเร็จจากแผนแม่แจ่มโมเดล พลัส แม้จะยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่สามารถจะเผยให้ชุมชนอื่น ๆ ได้เห็นโอกาสและทางเลือกใหม่ ที่จะทำให้ชุมชนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน ผมขอให้กำลังใจผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการพัฒนาชุมชนอนุรักษ์ และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ดำเนินการ และเน้นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน โดยหวังว่าแม่แจ่มโมเดล พลัสนี้ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่จะเป็นประโยชน์กับชุมชนอื่น ๆ  ซึ่งจะขยาย ต่อยอดออกไปได้ทั่วประเทศ

เรื่องนี้ก็สัมพันธ์กับการจัดหาที่ดินให้ประชาชนนะครับ ก็ตามที่มีคณะทำงานที่เราตั้งมาแล้วคือ คทช. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แล้วก็มี 3 อนุกรรมการ อันนี้ก็ขอให้เอาหลักการเหล่านี้เข้าไปสู่ในการพิจารณาด้วยนะครับ เพราะต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน สัมพันธ์กัน ทุกอย่างต้องมีกฎหมาย ให้สอดคล้องไปด้วยกัน ข้อสำคัญคือรัฐและประชาชน เอกชน ประชาสังคม ต้องช่วยกัน ถ้ารัฐทำคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกันลักษณะนี้ และจะพยายามขยายไปทั่วประเทศ  เราต้องเพิ่มพื้นที่ป่า แล้วก็มีป่าที่อยู่ร่วมกับประชาชนได้ด้วย ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ อะไรก็แล้วแต่ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน เพราะฉะนั้นเราจะมีป่าเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ที่มีคนอยู่ด้วย ถ้าหากเราช่วยกันปลูก เราช่วยกันทำธนาคารป่าไม้ คือปลูกไม้มีค่า ก็จะเจริญไปด้วยกัน

พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ผมอยากแนะนำพี่น้องประชาชนชาวไทยให้รู้จักกับบริการใหม่ ที่รัฐบาลตั้งใจนำมามอบให้ เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับพี่น้องประชาชนทุกคน คือ แอปพลิเคชัน CITIZENinfo แอปเพื่อประชาชน ที่เพิ่งจะเปิดตัวในงานสัมมนา Digital Government Summit 2019 วันนี้ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562  โดยการพัฒนาแอปฯ นี้ ขึ้นมานั้น เป็นโครงการที่ต่อยอดจากข่าวดีที่รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกเรียกสำเนาเอกสาร ที่หน่วยงานราชการออกให้ จากประชาชน

ความสำเร็จนี้เป็นก้าวย่างครั้งสำคัญ สืบเนื่องมาจากมติการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2561 ที่ให้หน่วยงานภาครัฐ ยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสาร จากพี่น้องประชาชน โดยเริ่มจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ก่อน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการอำนวยความสะดวก และลดภาระแก่พี่น้องประชาชน โดยไม่ให้หน่วยงานเรียกขอสำเนาเอกสารราชการ แต่ให้หน่วยงานใช้วิธีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน  หรือถ้ายังไม่ได้เชื่อมโยงก็ให้ประสานเพื่อขอสำเนากันเอง โดยให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน ก็มีหน่วยงานที่ยกเลิกการเรียกสำเนาแล้ว ครอบคลุม 20 กระทรวงหรือ 151 หน่วยงานทั่วประเทศ นั่นคือเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการช่วยลดภาระ เวลา  และค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเอกสาร สำหรับติดต่อราชการ ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรัฐอีกทางหนึ่งด้วย ในขณะที่ภาครัฐเองก็ได้ประโยชน์จากการลดการใช้กระดาษ ลดพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร และประหยัดเวลาในกระบวนงานต่าง ๆ ลงด้วย

ปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร. และกรมการปกครอง ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน CITIZENinfo ขึ้น เพื่อช่วยให้ทุกท่าน ค้นหาจุดให้บริการรัฐใกล้บ้าน พร้อมแสดงตำแหน่งพิกัดและเส้นทางการเดินทาง ไปยังจุดให้บริการได้สะดวก แสดงรายละเอียดขั้นตอน การให้บริการ และการใช้เป็นเครื่องมือแสดงสถานะการยกเลิกสำเนาเอกสาร รวมถึงยังสามารถประเมินความพึงพอใจต่อการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ ได้ด้วยในแอปฯ เดียว จะช่วยให้ภาครัฐนำข้อมูลมาปรับปรุง พัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน ให้มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนางานให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงใจ สมกับเป็นมิติใหม่การติดต่อราชการไทย ในยุค 4.0 นี้ ก็ขอร้องทั้งสองฝ่าย ทั้งข้าราชการ ทั้งประชาชนต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้ได้นะครับ

นอกจากนี้แล้ว ในอนาคตพี่น้องประชาชนจะสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ เช็คสิทธิ์สวัสดิการของตนเอง เช็คยอดเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเข้าถึงข้อมูลเอกสารดิจิทัลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเอกสารต่าง ๆ ที่ออกโดยราชการได้ด้วย ผมจึงอยากให้พี่น้องประชาชนทุกท่านดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CITIZENinfo มาไว้ในมือถือให้พร้อมใช้งาน เพราะหน่วยงานของรัฐกับประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่คู่กัน ต้องมีเรื่องให้ติดต่อกันตลอดอยู่แล้ว แอปพลิเคชัน CITIZENinfo นี้จะเหมือนเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวก ให้พี่น้องประชาชนติดต่อราชการได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผมขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือ เร่งดำเนินการตามนโยบายโครงการยกเลิกสำเนาเอกสาร และก็คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ได้ประกาศไว้ เพื่อให้ช่วยกันปลดล็อคข้อจำกัดประเทศ ไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างทันสมัยและยั่งยืนนะครับ

สุดท้ายนี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะดีขึ้นจากความสำเร็จในการทำฝนเทียมหรืออื่น ๆ นะครับ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่เป็นปกติ ในส่วนของรัฐบาลก็ได้บูรณาการกัน เร่งสำรวจและแก้ไขที่ต้นตอ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืน  สำหรับพี่น้องประชาชนก็ต้องขอความร่วมมือด้วยนะครับ ทุกคนใช้รถใช้ถนน ก่อสร้าง โรงงาน แม้กระทั่งการเผาพืชผลทางการเกษตร อันนี้ก็ขอให้ช่วยกันด้วย ช่วยกันลดทั้ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.2.5 และก็ PM.10 ด้วยนะครับ เพราะทั้งสองอย่างเป็นผลกระทบกับประชาชนกับร่างกายด้วยทุกคน แต่ PM.2.5 อันตรายกว่า ผมได้สั่งการไปแล้วให้ทุกหน่วยได้ไปแก้ คือรัฐบาลไม่ได้มาแก้เล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องใหญ่ ๆ ก็ต้องสั่งการไป ต้องมีระเบียบ มีกฎกติกามากขึ้น เช่น การใช้น้ำมันดีเซล ดีเซล B20 ในรถไฟ ในรถเมล์อะไรต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งขอร้องให้ประชาชนขอให้ร่วมกันใช้ดีเซล B20 ที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์ม ไม่มีอันตรายต่อเครื่องยนต์ ปรับแก้นิดหน่อยเอง อันนี้มีการทดสอบ ทดลองใช้มาแล้ว และราคาก็ถูกกว่าราคาของน้ำมันดีเซลปกติ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานก็ได้มีการผลิตน้ำมัน B20 ออกมา เพื่อจะรองรับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ก็ขอให้ไปหาเติมได้ตามปั๊มน้ำมันต่าง ๆ โดยทั่วกันนะครับ อันนี้เราก็ต้องระมัดระวังคนกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบ ก็มีผู้ป่วย ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ก็ขอให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาไม่ได้ง่ายนัก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วนด้วยกัน ฉะนั้นอะไรที่ช่วยกันได้ก็ช่วยนะครับ

ขอขอบคุณสื่อทุกแขนง รวมทั้งสื่อโซเชียล ผมเห็นว่ามีบทบาทสำคัญ สามารถทำงานบูรณาการกับภาครัฐได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง  ต้องสร้างข้อควรคำนึงด้วย  ไม่ใช่สร้างความตื่นตระหนกแต่เพียงอย่างเดียว  เราต้องรับรู้ว่า รัฐบาลหรือทางงานราชการมีอะไรที่แก้ปัญหาไปให้ ทุกคนจะต้องร่วมมือกันอย่างไร เราควรแสวงประโยชน์ จากปรากฏการณ์ฝุ่นละอองในครั้งนี้  ให้ความรู้กับทุก ๆ คน ได้รู้จัก ได้รู้วิธีการรับมืออย่างถูกต้องและเหมาะสม เหมือนเมื่อก่อนคนไทยรู้จัก “สึนามิ” เพียงในตำรา แต่ในวันนี้ เรารู้จัก รู้ว่าจะต้องสังเกตจากอะไร แล้วควรทำตัวเช่นไรนะครับ

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ทุกครอบครัว มีความสุขทุก ๆ วัน นะครับ สวัสดีครับ

………………………………………………………………….

ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมที่น่าสนใจ ที่น่าสนใจอื่นๆ