สรุปสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้

1. ฝรั่งเศสมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 สะสมจำนวน 151 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 3 ราย รักษาหายแล้ว 12 ราย และที่เหลือยังอยู่ใน รพ. ทั้งนี้ พบผู้ติดเชื้อใน 12 แคว้น จากทั้งหมด 18 แคว้น โดยแคว้น Ile-de-France, Auvergne-Rhône-Alpes และ les Hauts-de-France พบผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 10 ราย และมีพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมากกว่าที่อื่น ๆ ในฝรั่งเศสจำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัด Oise, Haute-Savoie และ Morbihan (ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อรวม 72 รายในพื้นที่ดังกล่าว) เป็นผลให้ฝรั่งเศสเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นลำดับที่สองในยุโรป รองจากอิตาลี

2. เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2563 รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดการประชุมคณะรัฐมนตรี และสภาการป้องกันประเทศวาระพิเศษ และได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ฝรั่งเศสได้เข้าสู่ภาวะของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ระยะที่ 2 แล้ว กล่าวคือ เริ่มมีการแพร่ระบาดและติดเชื้อไวรัสภายในประเทศฝรั่งเศส (มิได้ติดเชื้อจากประเทศต้นทาง/ประเทศเสี่ยงเพียงอย่างเดียว) รัฐบาลจึงได้ยกระดับมาตรการการป้องกันและชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ดังนี้

2.1 สำหรับพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นอย่างมาก ได้แก่ จังหวัด Oise (9 เมือง ได้แก่ Creil, Crépy-en-Valois, Vaumoise, La Croix-Saint-Ouen, Montataire, Nogent-sur-Oise, Villers-Saint-Paul, Lamorlaye et Lagny-le-Sec), เมือง La Balme-de-Sillingy จังหวัด Haute-Savoie และ จังหวัด Morbihan (3 เมือง ได้แก่ Carnac, Auray et Crac’h) ให้ปิดสถานศึกษาถึงวันที่ 14 มี.ค.2563 ห้ามการชุมนุมใด ๆ และขอให้ประชาชนจำกัดการเดินทางออกนอกที่พัก โดยขอให้ตรวจวัดอุณหภูมิตนเองวันละ 2 ครั้ง แต่ฝรั่งเศสมิได้มีมาตรการปิดเมืองหรือห้ามคนเข้า-ออกจากพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด

2.2 สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศให้ยกเลิกการจัดการชุมนุมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมในพื้นที่ปิดมากกว่า 5,000 คน (อาทิ งานเกษตรแฟร์ งานมหกรรมหนังสือ งานวิ่งมาราธอนที่กรุงปารีส) แต่ยังคงให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศในวันที่ 15 และ 22 มี.ค. 2563 และการแข่งขันฟุตบอล (เนื่องจากมิได้จัดแข่งในพื้นที่ปิด) โดยย้ำให้ประชาชนล้างมือบ่อยครั้ง และงดเว้นการทักทายโดยการจับมือ พร้อมทั้งย้ำว่า หน้ากากอนามัยไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งปัจจุบันจะต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะสามารถซื้อหน้ากากอนามัยได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้หน้ากากอนามัยขาดตลาดสำหรับบุคคลที่มีความจำเป็นได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยติดเชื้อหรือผู้ที่มีอาการต้องสงสัยว่าติดเชื้อ

3. รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศเพิ่มเติมให้บุคคลที่เดินทางกลับมาจากแคว้น Emilia-Romagna ของอิตาลีต้องระมัดระวังดูแลอาการตนเองเป็นพิเศษเป็นเวลา 14 วัน (วัดอุณหภูมิวันละ 2 ครั้ง/ไม่ไปที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น/สวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ) เพิ่มเติมจากจีน ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิหร่าน แคว้น Lombardie และ Venetia ของอิตาลี

4. นาย Bruno Le Maire รมว.เศรษฐกิจและการคลัง แถลงเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส จะได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 มากกว่าร้อยละ 0.1 เนื่องจากทุกประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด แต่ยังไม่สามารถให้ตัวเลขที่แน่นอนได้ในชั้นนี้

5.บริษัทเอกชนของฝรั่งเศสหลายแห่งได้ออกมาตรการห้ามพนักงานเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง อาทิ BNP Paribas, Société Générale, และ Accor และบางบริษัทได้ห้ามพนักงานเดินทางไปต่างประเทศโดยสิ้นเชิง อาทิ l’Oréal และ Nestlé

6. องค์การ UNESCO ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ได้ประกาศยกเลิกการจัดการประชุม/สัมมนาในเดือนมีนาคม 2563 ที่มีผู้เข้าร่วมจาก ตปท. มากกว่า 50 คน เว้นแต่จะสามารถหาวิธีการจัดการประชุมในรูปแบบดิจิตัลได้ แต่ยังคงจัดการประชุมที่เกี่ยวกับงานบริหารขององค์กรและขอให้เลื่อนการจัดการประชุมระหว่างประเทศในเดือน มี.ค. ออกไปก่อน ส่วนการประชุมอื่น ๆ จะพิจารณาเป็นรายกรณี นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง (จีน ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิหร่าน แคว้น Lombardy, Venetia, Romagna, Liguria ของอิตาลี) เข้าพื้นที่ที่ทำการ UNESCO จนกว่าจะพ้นระยะเวลา 14 วันหลังเดินทางกลับมาถึงฝรั่งเศส

ข่าว-กิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ