วิชาประวัติศาสตร์ : เข้าห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และคุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน นักประวัติศาสตร์สองรุ่นผู้มองประวัติศาสตร์ด้วยมุมใหม่

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานด้านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและต่อเนื่องในหลากหลายมิติ ทรงศึกษาและสนับสนุนงานด้านประวัติศาสตร์จนเกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากมาย นั่นคือสิ่งที่ปวงชนชาวไทยรับทราบมาโดยตลอด

คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ก็ทำงานด้านประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน ปัจจุบันคุณใหม่รับราชการตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ช่วยราชการที่สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

งานของคุณใหม่ที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือ โครงการ ‘วังน่านิมิต’ จัดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ที่กำลังจัดระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

โครงการวังน่านิมิต คือการบอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่าน ‘จินตนาการ’ ว่าถ้าเข้าไปในพื้นที่วังหน้าเราจะได้พบเห็นอะไร

ส่วนโครงการ ‘วังหน้านฤมิตฯ’ คือการนำเสนอประวัติศาสตร์ผ่าน ‘การสร้างสรรค์’ ด้วยการชวนศิลปินและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ตีความแล้วนำเสนอเรื่องราววังหน้าในมุมของตัวเอง

สมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานเปิดโครงการวังหน้านฤมิตฯ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

คุณใหม่จึงขอพระราชทานสัมภาษณ์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เรื่องแนวพระราชดำริและการทรงงานด้านประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางให้คนทำงานด้านประวัติศาสตร์ได้เรียนรู้

จึงเกิดเป็นบทสัมภาษณ์เรื่องประวัติศาสตร์ ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างสมเด็จพระเทพรัตนฯ กับคุณใหม่ นักประวัติศาสตร์ 2 รุ่นที่พยายามถ่ายทอดเรื่องประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการใหม่ๆ เช่นเดียวกัน

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

ตอนที่ไปบรรยายที่ จปร. ด้วยกัน น้าน้อยบอกว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การบันทึกอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณเห็นในหนังสือ ไม่ใช่แค่อาคารสิ่งปลูกสร้าง แต่เน้นเรื่องการทำงานข้อมูลเกี่ยวกับมรดกที่จับต้องไม่ได้ อยากรู้ว่าน้าน้อยมองเรื่องประวัติศาสตร์อย่างไรคะ

จริงๆ ทุกคนก็เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ อาชีพของน้าน้อยก็ต้องใช้ประวัติศาสตร์มาก เพราะว่าอย่างไปสัมภาษณ์ใคร จะเอาใครมาทำงาน ก็ต้องรู้ประวัติศาสตร์ของเขา คือดู CV ของเขาว่าเขาเกิดเมื่อไหร่ เพื่อให้รู้ว่าเขาอายุสักเท่าไหร่ สมัยก่อนบางคนชอบถามชื่อพ่อชื่อแม่ ลูกใคร จะได้ทราบว่าพื้นฐานการอบรมหรือความรู้ สมัยนี้คงประหลาด จะสนใจใครคงไม่ได้สนใจไปถึงพ่อแม่ ที่สำคัญคือ เรียนอะไรมา มีพื้นฐานอะไร เคยมีประสบการณ์อะไร ตอนนี้ก็กำลังเลือกคนไปดูงาน ไปแข่งขันที่ต่างประเทศ ก็ต้องดูว่าเด็กคนนี้มีประวัติเคยทำงานวิจัย ทำงานอะไรมาก่อน พวกนี้ก็คือประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องผ่านมานานมาก เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ ประสบการณ์ได้ไปเห็นอะไรไปรู้อะไรก็เอามารวมกันอยู่ในประวัติศาสตร์

 

น้าน้อยเคยอธิบายว่า ดนตรีเป็นวิธีบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง

สมัยก่อนบางทีเขาก็เอาทำนองดนตรีของคนที่มีชื่อเสียงในอดีตมารวมในบทที่ตัวเองแต่งในสมัยต่อมา เป็นการบันทึกว่านักดนตรีคนนี้เคยรู้จักและชื่นชมดนตรีของใครมาก่อน บางทีคนที่เขาชื่นชมเป็นคนคนละชาติคนละภาษา แปลว่าเขาต้องรู้จัก ต้องมีความสัมพันธ์กัน ส่วนเนื้อเพลงก็มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว และอาจจะเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่นมีเพลงลูกทุ่ง (ต.ช.ด.ขอร้อง) ที่บอกว่า ตำรวจตระเวนชายแดนเดินผ่านบ้านของสาวชาวดอยแล้วหลงรักหรืออยากจะหลอกก็ไม่ทราบ เขาบอกว่า “หากทางการไม่เรียกตัวพี่กลับ มีเสียมสักหอบ มีจอบสักหาบ จะถางให้ราบหมดดอย แล้วปลูกถั่วงา อยู่กับขวัญตา เนื้อกลอย”

เดี๋ยวนี้ถ้าใครมาบอกว่าจะถางหมดดอยนี่ตายแน่ เพราะสมัยก่อนความคิดเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังไม่แพร่หลาย ป่าเขายังมีมาก ยังไม่มี Climate Change เหมือนในปัจจุบัน ตอนนั้นผู้ชายคนไหนขยันไปถางดอย ปลูกถั่วปลูกงา พ่อแม่ของผู้หญิงจะชอบ อยากให้ลูกของตัวเองแต่งงานกับผู้ชายที่ขยันขันแข็ง จะได้เลี้ยงผู้หญิงได้ มองไปคนละแบบ สังคมเปลี่ยนไปยังไง เนื้อเพลงบอกได้ ทำนองก็บอกได้

 

เพลงเป็นวิธีบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงหนึ่งซึ่งตอนนี้ไม่หลงเหลือแล้ว

เพลงไทยสมัยก่อนทำไมถึงเรียกว่า เขมรไทรโยค จีนรำพัด จริงๆ แล้วไม่ใช่คนจีนคนเขมรแต่ง ลูกหลานคนแต่งก็ยังอยู่ เห็นชัดๆ ว่าเป็นคนไทย แต่เป็นเพราะแต่งเลียนเสียงสำเนียงเพลงจีน เหมือนคนไทยที่ล้อคนจีนซึ่งพูดภาษาไทยไม่ชัด แขกก็เป็นเสียงอีกแบบ ฝรั่งก็อีกแบบ นี่คือเรื่องสำเนียง ไม่ใช่การไปลอกหรือเอาเพลงฝรั่ง จีน แขกมา เป็นการบันทึกอย่างหนึ่งว่าสมัยก่อนเราติดต่อกับใคร ในชุมชนมีแขก เขมร ลาว พม่า เราถึงแต่งเพลงเลียนเสียงดนตรีของคนเหล่านี้

 

เมื่อก่อนคนไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเลยไม่ค่อยเขียนบันทึก อ่านอะไรก็ไม่ค่อยได้ การร้องเพลงก็เป็นวิธีช่วยให้จำแบบหนึ่งใช่ไหมคะ

มันทำให้จำได้ เวลาเราท่องอะไรที่เป็นคำคล้องจองจะจำง่ายกว่าท่องหนังสือ เป็นเพลงเลยจำง่ายกว่า สมัยก่อนคนไทยอ่านหนังสือออกน้อย ที่วัดถึงมีภาพฝาผนังที่บรรยายสวรรค์ นรก ต้นงิ้ว กระทะทองแดง มีหอกแหลมแทงทุกวันๆ เหมือนสมัยนี้เวลาพูดต้องมี PowerPoint ถ้าไม่มี เขาหลับนะ สมัยก่อนพระเทศน์ก็อาจจะชี้ให้ดูว่าภาพฝาผนังเป็นแบบนี้ มีพระพุทธเจ้า ประวัติพระพุทธเจ้า บางทีก็เป็นภาพแขวนที่เปลี่ยนได้เรียกว่า ภาพพระบฏ ดีกว่าง่ายกว่าเขียนบนฝาผนัง เพราะเอาออกได้ นี่คือสื่อ ใช้ภาพศิลปะสอน อันไหนงดงาม อันไหนดี ก็ทำให้คนอยากรู้และมองอีก

อีกอย่างในภาพอาจจะบอกถึงเรื่องที่มีใหม่สมัยนั้น เช่นเรื่อง รามเกียรติ์ พระราม หนุมาน ก็ต้องมีหน้าตาแบบนี้ แต่ว่าภาพกากหรือภาพประกอบ ลิงบางตัวก็ใส่แว่น สมัยนั้นอาจจะเพิ่งมีแว่นตา มีตำรวจลิงมาไล่หาบเร่ ยุคนี้อาจจะไม่ได้เป็นที่พูดถึงแล้ว แต่สมัยนั้นเป็นเรื่องหนักเลยที่ต้องไล่หาบเร่ หาว่าสกปรกและกีดขวางทางจราจร รูปพวกนี้บอกได้ว่าสังคมสมัยนั้นเป็นอย่างไร

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซนสมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

งานวังหน้านฤมิตฯ นี้ชวนอาจารย์กิติเชษฐ์ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ไปดูภาพฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ อาจารย์ชี้ให้ดูต้นซากุระกับโบตั๋นซึ่งไม่มีในไทย เขาวาดในฉากที่เป็นสวรรค์ เป็นดอกไม้พิเศษที่มีอยู่ในอีกโลกหนึ่ง

เขาอาจจะเห็นดอกโบตั๋นในเครื่องลายคราม จีนส่งเครื่องลายครามมาเมืองไทย คนไทยถือว่าเป็นของสูง ถ้าไปดูพิพิธภัณฑ์ในฝรั่งเศส ห้องที่เก็บของที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งไปให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของจำนวนมากเป็นของจากจีน สันนิษฐานว่าคนไทยอาจจะมองว่าของไทยเชย ไม่มีคุณค่า ของจีนเป็นของล้ำค่า จะให้ใครก็เอาของล้ำค่าไปให้ อาจจะเป็นแบบนั้น คนที่จะมีภาพฝาผนังแบบนี้คือกษัตริย์หรือคนชั้นสูง เวลาจ้างช่าง ช่างก็อาจจะได้เข้าไปในวังหรือบ้านเจ้าสัวต่างๆ แล้วเห็นดอกไม้พวกนี้บนเครื่องลายคราม

 

มีการใช้ศิลปะบันทึกเหตุการณ์ในยุคนั้น ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีภาพของต้นทุเรียน อาจารย์กิติเชษฐ์โตมาย่านบางกอกน้อย ตอนเด็กๆ เขาเคยเห็นต้นทุเรียนเต็มเลย น่าแปลก ไม่ทราบเลยว่าตรงบางกอกน้อยเคยมีทุเรียน

แถวฝั่งธนฯ มีอะไรประหลาดๆ เยอะ มีกษัตริย์อยุธยาพระองค์หนึ่งชื่อ ขุนหลวงหาวัด เพราะทรงหนีภัยการเมืองด้วยการไปทรงผนวช คนเลยเรียกท่านว่า ขุนหลวงหาวัด น้าน้อยก็เป็นขุนหลวงหาวัด ไม่ได้หาวัดไปบวชหรือไปฟังพระ แต่ไปดูภาพฝาผนัง ชอบเดินหาวัดแถวฝั่งธนฯ มีวัดร้างเล็กๆ โบราณๆ สมัยเมื่อ 40 ปีก่อน คนในละแวกนั้นมีอาชีพย้อมคราม เขาปลูกต้นครามแล้วก็แกะเปลือกที่ไม่ใช้ปาเข้าไปในวิหารโบราณ จนผนังเปื้อนสีน้ำเงินไปหมด ลองเขี่ยๆ เศษครามออกก็เห็นภาพฝาผนัง แต่ว่าเลอะเทอะเสียหมด ตอนน้าน้อยไปดูวัดก็มีคนไปด้วยกันเยอะ เด็กวัดนึกว่ามาถ่ายหนังก็วิ่งตาม คิดว่าน้าน้อยเป็นนางเอกหรือเปล่า (หัวเราะในสายตาของเด็กคงไม่ใช่หรอก เป็นยายนางเอกมากกว่า

 

ภาพฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 4 เราจะเห็นอิทธิพลจากตะวันตกเยอะเลย

มีช่างเขียนภาพคนหนึ่งเป็นพระชื่อ ขรัวอินโข่ง ท่านชอบวาด งานของท่านเห็นได้ชัดที่วัดบวรฯ ท่านไม่เคยไปเมืองนอก เมื่อก่อนเรายังเขียนภาพไม่มี Perspective ยุครัชกาลที่ 4 เริ่มมีแล้ว สมัยนั้นเริ่มมีรูปถ่าย แต่ยังไม่ได้เข้ามามาก ท่านดูรูปพวกนี้แล้ววาดออกมาเป็นสไตล์ฝรั่งเลย การใช้สีในยุคอยุธยามาจนถึงรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 ภาพจะออกโทนสีแดง เพราะวัสดุที่เขียนด้วย เทคโนโลยีด้วย เมื่อก่อนหน้าต่างวัดยังแคบ แสงเข้าไม่ได้ สีแดงจะสะท้อนแสงได้ดี ทำให้รูปดูสว่าง แต่ยุครัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา เทคโนโลยีการก่อสร้างดีขึ้น สร้างหน้าต่างได้ใหญ่ แสงธรรมชาติเข้ามาได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สีช่วย ภาพจึงเป็นสีน้ำเงิน สีคราม สีของภาพจึงพอบอกได้ว่าภาพนี้เขียนในสมัยไหน แล้วพวกรูปใส่แว่นตา รูปต่างๆ ที่เป็นเรื่องจากข้างนอก ก็บอกเทคโนโลยีได้ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ครอบคลุมสิ่งต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ดนตรี อะไรเยอะแยะไปหมด

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

ในฐานะที่น้าน้อยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ มองประวัติศาสตร์และสอนประวัติศาสตร์อย่างไรคะ

ค่อนข้างต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ เพื่อนที่เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ส่วนมากสอนเด็กมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเด็กที่สนใจ เรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ แต่การสอนนักเรียนนายร้อย จปร. เขาอาจจะไม่ได้อยากเรียนหรืออยากรู้เท่าไหร่ บางทีพูดถึงสงครามเวียดนาม น้าน้อยเกิดสมัยนั้น มีสงครามเวียดนาม สงครามเย็น บ้านเราก็มี ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) เราอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น แต่พูดให้เด็กสมัยนี้ฟังก็เท่ากับพูดเรื่องโบราณเหมือนพระนเรศวรชนช้าง ต้องย้อนกลับมา น้าน้อยก็อาศัยเล่าเรื่องให้ตลกๆ เอาเพลงมาร้องให้ฟัง ถ้าร้องไม่เป็นก็เปิดเพลงให้นักเรียนฟัง

อย่างเช่นยุคหลังที่รบกันมีทหารอเมริกันเข้ามา มีผู้หญิงไทยไปเป็นเมียเช่า มีเพลง จดหมายรักจากเมียเช่า“ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอ เดียร์ จอห์น” ต่อว่าต่อขานว่าสามีกลับประเทศอเมริกาแล้วไม่พาไปด้วย บอกรายละเอียดเลยนะว่าสามีอยู่รัฐไหนของอเมริกา นักเรียนตกใจมาก ไม่เคยได้ยิน เลยสนใจ

สมัยนั้นอเมริกามีเพลงต่อต้านสงครามเวียดนาม Blowing in the Wind คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมญาติพี่น้องเขาต้องมารบอยู่ที่ไทย ที่เวียดนาม แล้วถูกฆ่าตาย ส่วนคนไทยมีเพลง ลาน้องไปเวียดนาม บอกว่า “รักสดชื่นคือรักชาติ” ถูกผู้หญิงหักอกไม่รับรัก ก็ไปรบที่เวียดนามดีกว่า คนไทยมองว่าไปเพื่อป้องกันชาติ เพลงจะบอกได้ทั้งความคิดของคนไทยและอเมริกัน

นักเรียนอาจจะไม่เข้าใจว่าสมัยนั้นมีการรบกัน มีทหารอเมริกันเข้ามาเต็ม มีผลต่อสังคมไทยต่างๆ นานา สมัยนั้นมีนิยายอย่าง ข้าวนอกนา ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด มองในภาพว่าผู้หญิงคนนี้ฉลาด ได้เป็นภรรยาของทหารอเมริกันจริงๆ แต่พี่สาวเป็นได้แค่เมียเช่าแล้วชีวิตก็ตกยาก เรื่อง ข้าวนอกนา มีผู้หญิงคนหนึ่งมีสามีเป็นทหารอเมริกันขาว แล้วคนต่อมาก็เป็นอเมริกันดำ มีลูกทั้งผิวขาวผิวดำ ให้ยายเลี้ยง น้าน้อยเคยออกไปชนบท ตามเสด็จฯ ไปช่วยราษฎร เจอคุณยายอุ้มเด็กขาวคนดำคนมา ยายบอกว่า ยกให้เอาไปเลี้ยง เหมือนในนิยายเลย แสดงว่านิยายก็ต้องเขียนจากเรื่องจริงบ้าง

 

น้าน้อยสอนประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่ผ่านหนังสือ

ตอนสอนเรื่องวัฒนธรรมอเมริกันก็เอา Thanksgiving มาปนกับคริสต์มาส มีทั้งต้นคริสต์มาส มีไก่งวงด้วยนะ น้าน้อยทำไก่งวงให้ลูกศิษย์กินจริงๆ สอนแบบมีของกิน ตอนนั้นมีเลือกตั้งอเมริกา จำไม่ได้แล้วว่าสมัยไหน ลงทุนให้เพื่อนที่สถานทูตซื้อช็อกโกแลตที่เป็นเดโมแครตข้างหนึ่ง ริพับลิกันข้างหนึ่ง ส่งมาจากอเมริกา ให้นักเรียนกินแล้วโหวตกัน ทุกคนต้องบอกเหตุผลว่าทำไมเลือกคนนี้ ไม่เลือกคนนี้ สนุกดี ตอนแรกว่าคนที่เลือกถูกจะให้รางวัล แต่สงสารเลยให้ทั้งห้อง ยี่สิบสามสิบคน ลงทุนสูงมาก ซื้อหมวก ของเล็กๆ น้อยๆ จากอเมริกา แล้วฝากถุงเมลของสถานทูตมา

 

สอนประวัติศาสตร์ผ่านการให้นักเรียนทำขนมโมจิด้วยหรือคะ

มีการทำวิจัยเรื่องนครนายกสมัยสงครามโลก มีคนญี่ปุ่นมายึดครองที่นั่น ก็ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านแก่ๆ ที่เคยเจอคนญี่ปุ่นในสมัยนั้น ซึ่งตอนนี้ไม่เหลือแล้ว มีสัมมนานานาชาติด้วย ชาติที่ญี่ปุ่นไปอยู่ด้วยเกลียดญี่ปุ่นกันหมด ยกเว้นคนไทย คนไทยรักญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นเข้ามาช่วงจวนจะแพ้สงครามแล้ว เขาไม่เคยเอาของใครฟรีๆ จ่ายเงินหมด แต่คนไทยก็ชอบขโมยของญี่ปุ่น ขโมยแล้วก็โยนลงบ่อน้ำ เป็นเกมชนิดหนึ่ง เพื่อความสนุก ตอนญี่ปุ่นจะแพ้ก็พยายามยัดเยียดอะไรต่อมิอะไรให้คนไทย แต่เราไม่ยอมรับเพราะกลัวฝรั่งจะมาเล่นงาน

ญี่ปุ่นต้องฆ่าม้า นี่เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใจของคนไทยยุคนั้นมาก เคยมีคนญี่ปุ่นยุคนั้นกลับมาวัดที่เขาฝังศพคนญี่ปุ่น ฝังศพม้าด้วย มานั่งร้องไห้ น้าน้อยเคยตามไปสัมภาษณ์ มีล่ามนะ เล่าไปพลางก็ร้องไห้ไปพลาง

เราค้นหลักฐานต่างๆ ทางเอกสาร ในหอจดหมายเหตุเขียนอย่างไร ทั้งหอจดหมายเหตุไทย หอจดหมายเหตุญี่ปุ่น หอจดหมายเหตุอังกฤษ แล้วก็สัมภาษณ์คนไทย คนญี่ปุ่น คนอังกฤษ เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า มีคนอังกฤษเป็นทหารเก่า คนไทยเรียกว่า ลุงนิดหน่อย มาให้สัมภาษณ์ คนญี่ปุ่นก็สัมภาษณ์ คนไทยเก่าๆ ด้วย มีป้าบางคนทำขนมโมจิได้ ก็ให้เล่าให้นักเรียนนายร้อยฟังว่าขนมโมจิทำอย่างไร ในความคิดของคนไทยขนมโมจิคือแป้งแข็งๆ แบบที่นครสวรรค์ แต่อันนี้เหมือนที่ญี่ปุ่นเลย นิ่มๆ มีไส้ถั่ว

กลับมาก็ให้นักเรียนนายร้อยหัดทำตามตำราที่คุณป้าบอก คืนนั้นน้าน้อยค้างที่โรงเรียนนายร้อยฯ เพราะวันรุ่งขึ้นมีสัมมนาตอนเช้า เกือบ 2 ยามแล้วนักเรียนก็มาหา นึกว่าผี เพราะตัวขาวๆ มีแป้งเต็มหัวเลย เขาเอาขนมมาให้ชิมว่าใช้ได้หรือยัง ก็เก็บเอากลับไปให้ทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยสมัยนั้น ท่านบอกว่า ใช่เลย คนญี่ปุ่นที่สอนต้องมาจากเกียวโต คนไทยที่เรียนตอนนั้นอายุ 80 – 90 ปี แล้ว ตอนนี้ถ้าอยู่ก็คงร้อยกว่าๆ แต่เสียชีวิตหมดแล้ว

แล้วก็ยังมีหลักฐานอีกแบบเรียกว่า หลักฐานทางโบราณคดี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง น้าน้อยให้นักเรียนไปขุด ไปถางป่า ถางหญ้า ก็เห็นเส้นทางเก่าที่ญี่ปุ่นทำไว้ มีสุสานญี่ปุ่นด้วย แต่ตอนนี้ไถราบหมดแล้ว ไม่มีเหลือเลย ไม่ได้อนุรักษ์ไว้ ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่า ตรงนี้เป็นครัวญี่ปุ่น เขาเล่าว่า คนไทยชอบขโมย ไปขุดสุสานแงะฟันทองของทหารญี่ปุ่นออกมา ผีเผอไม่กลัวทั้งนั้น อยากได้ทอง เขายังให้เรายืมของจัดนิทรรศการ มีขวดยาเก่าๆ มีของญี่ปุ่น เสร็จงานเราก็คืนลูกหลานไปหมด

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

เป็นข้อมูลที่เด็กเป็นคนบันทึก

ช่วยกันทั้งอาจารย์และเด็กนักเรียน หลายสิบปีแล้ว ที่นครนายกมีพื้นที่หนึ่งเป็นเนินเขาชื่อ ดงละคร ถ้าไปขุดที่นั่นจะเจอโบราณวัตถุต่างๆ แต่เด็กๆ ไม่ได้ขุด ให้ไปตามบ้านชาวบ้าน เขามีโบราณวัตถุอยู่ตามบ้าน ก็ถามป้าๆ ว่า ทำไมถึงเจอของเยอะแยะ ทำไมกรมศิลปากรถึงไม่เจอบ้างเลย ป้ากระซิบข้างหูว่า ป้าฝัน แต่ศิลปากรเขาไม่ฝัน (หัวเราะ)

เข้าไปตามป่าก็เจอเครื่องไสไม้ เขาไสตะเกียบ มีโรงงานทำตะเกียบกลางป่า ที่ตะเกียบเขียนว่ามาจากเมืองโน้นเมืองนี้ในประเทศจีน แต่แท้จริงแล้วก็กลางป่าดงละครนั่นแหละ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เขาบอกว่าสามีกับภรรยาทะเลาะกัน เลยโรงแตก

ดินรอบๆ เนินเขาเป็นดินเปรี้ยว เราสันนิษฐานว่าสมัยก่อนดงละครเป็นเกาะ รอบๆ น่าจะเป็นน้ำทะเล แสดงว่าหมื่นปีมาแล้วตรงนั้นเป็นเกาะ มีเส้นทางการคมนาคม ยุคโบราณเคยมีการติดต่อค้าขาย

 

ถ้าคนที่อยู่รอบโบราณสถานไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับเขายังไง เขาก็ไม่รู้ว่าจะปกป้องเพื่ออะไร

ก็ไม่ปกป้อง เรื่องต่างๆ ต้อง Engage กับคน อย่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ไปไล่จับคนที่อยู่ในป่าสงวน เจ้าหน้าที่มีแค่สิบกว่าคนดูแลป่าไม้พื้นที่พันๆ ตารางกิโลเมตรได้ไหม ถ้าบอกประชาชนที่เข้าไปในป่าให้เข้าใจว่าป่าไม้เป็นสิ่งที่ควรหวงแหน ทำประโยชน์อะไรให้เราได้ ตอนนี้น้าน้อยกำลังทำเรื่องสร้างป่าสร้างรายได้ ทำให้เขาเห็นว่าเขาเข้าไปอยู่ในป่าแล้วทำกินได้โดยไม่ต้องตัดต้นไม้ คนพวกนี้แหละจะช่วยป้องกันการทำลายป่า งานประวัติศาสตร์ก็เหมือนกัน

 

เราจะให้คนเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์และการบันทึกประวัติศาสตร์ได้อย่างไร

ต้องพาไปเห็น ฟังเลกเชอร์ก็หลับพอดี ถ้าไปเดินดูพิพิธภัณฑ์ก็อาจจะหลับน้อยหน่อย ไปต่างประเทศก็พาไปดูสุสานฝรั่ง หินตรงหลุมศพจะเขียนว่าคนนี้เกิดตายเมื่อไหร่ อายุเท่าไหร่ เป็นอะไรตาย เด็กๆ ตกน้ำตายเยอะมาก ก็มาวิเคราะห์กันว่าสังคมสมัยนั้นเป็นยังไง

ถ้าเขาได้ไปเดินดู กลับมาประมวลเอง จะเข้าใจดีขึ้น การดูทำให้ได้อะไรติดเข้ามามากกว่าฟังบรรยาย เดินดูยิ่งดี ชี้ให้ดู เห็นนั่นเห็นนี่ ชี้อะไรที่ไม่ได้อยู่ในบทเรียนนัก เช่น ไปประเทศอื่นมักมีต้นไม้สองข้างทาง มีมะม่วงเหมือนบ้านเรา มีบอนไซ มีโป๊ยเซียน นิยมเหมือนบ้านเราเลย

ที่เมืองนอกมีเด็กที่เรียนศิลปะเข้าไปเขียนรูปโบราณวัตถุ การเขียนดีกว่าการถ่ายรูปนะ ถ่ายรูปเราก็ส่องไป กดแชะ แต่เขียนต้องดูรายละเอียด วาดจะเหมือนหรือไม่เหมือนตาเราต้องสังเกต พาไปดูให้คนฝอยเก่งๆ เล่าเรื่องให้สนุก อาจจะมีให้ทำอะไรต่างๆ บ้าง การพาไปดูมีประโยชน์ที่สุด

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซนสมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

วันที่ไปบรรยายที่ จปร. นอนไม่หลับเลย สอนเป็นหรือเปล่าก็ไม่รู้ สิ่งที่คิดก็คือ ทำอย่างไรจึงจะส่งข้อมูลออกไปให้ง่ายที่สุด ให้เขารับแล้วอยากกลับไปค้นหาเพิ่ม

การรู้พื้นฐานของคนฟังได้ประโยชน์มาก จะได้ยกตัวอย่างในสิ่งที่คนฟังรู้ การสอนหนังสือยาก พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่ดีในการสอน พิพิธภัณฑ์ที่สิงคโปร์ทำได้ดี สิงคโปร์สอนประวัติศาสตร์ผ่านพิพิธภัณฑ์ให้คนมากมาย เดือนที่แล้วไปประชุมก็ถือโอกาสไปดูนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ Art Science เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ถ้าเขาอยู่ถึงวันนี้จะมีอายุ 100 ปี ชื่อ ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) เป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เล่าประวัตินายคนนี้ว่าตอนเด็กๆ เรียนอะไร ชอบอะไร ไม่เรียนแต่ฟิสิกส์อย่างเดียว เป็นศิลปินด้วย ชอบตีกลอง ชอบวาดรูป ทำให้เขามองเห็นอะไรเป็นภาพ นักวิทยาศาสตร์คนอื่นที่ได้โนเบลพร้อมๆ กันเขียนทฤษฎีเป็นโมเดลคณิตศาสตร์คล้ายๆ กัน แต่คนนี้เขียนออกมาเป็นภาพ ทำให้คนเห็นชัดกว่า

ในงานนั้นเขาเอาศิลปินมาแปลงทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในความคิดเราๆ ให้ออกมาเป็นงานประติมากรรมและสื่อผสม ทำเป็นบล็อกต่างๆ ให้เด็กต่อเป็นโครงสร้างเคมี เป็นเครื่องเล่นให้เด็กประถมเข้าใจ ซึมซับได้

น้าน้อยทำงานด้านวัฒนธรรมประวัติศาสตร์มาหลายปี ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างคะ ทำงานยากขึ้นหรือง่ายขึ้น

สมัยก่อนคนไม่สนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้น ไม่เห็นคุณค่า รื้อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปเยอะ คนรุ่นหลังๆ เขาเข้าใจคุณค่ามากขึ้น

น้าน้อยกำลังจะปรับปรุงพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่อยู่ใกล้บ้านเรา แนวคิดในการบูรณะและทำพิพิธภัณฑ์นี้คืออะไร

ทูลกระหม่อมตา (รัชกาลที่ 9) อยากให้ทำพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสมเด็จพระพันวัสสาฯ ซึ่งคนไม่ค่อยรู้ว่าทรงทำอะไรบ้าง หลักใหญ่คือ แสดงว่าทรงทำอะไรบ้าง ที่นี่เป็นประวัติของครอบครัว เป็นตัวอย่างให้เห็น บางทีก็สอนตัวเองด้วย สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงเป็นผู้หญิงสมัยศตวรรษที่ 19 อยู่แต่ในวัง ทำไมจึงทรงมีความคิดที่แตกต่าง แม้แต่เรื่องประกันภัย ประกันชีวิต ทรงทำเรื่องการศึกษา เอาเด็กโรงเรียนราชินีมาตั้งหัวข้อให้โต้วาทีเพื่อฝึกการใช้เหตุผล ให้เล่นละครเพื่อฝึกการแสดงออก ท่านเป็นคนที่อ่านหนังสือมาก มีหนังสือภาษาอังกฤษมาก เพราะทรงเป็นผู้หญิงที่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษ หนังสือประเภทบ้านและสวนก็มี กับข้าวก็ทำ มีลายพระหัตถ์ที่เขียนให้ใครต่อใครว่า “ฉันชิมแล้วอร่อยจึงนึกถึงเธอ อยากให้เธอได้ชิม” แสดงความเป็นคนมีน้ำใจ

สนพระราชหฤทัยเรื่องการแพทย์ การรักษาพยาบาล มีพระราชโอรสเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ซึ่งทรงเป็นหมอ ท่านก็ทรงส่งเสริมพระราชโอรสท่าน มีหลายอย่างที่เป็นหลักฐานว่าสนพระราชหฤทัยสิ่งรอบตัว ตอนที่เครื่องเอกซเรย์เครื่องแรกเข้ามาในประเทศไทย ท่านก็ต้องไปทอดพระเนตรให้เห็นว่ามันเป็นยังไง หรือพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ที่ตอนนี้เก็บไว้ที่วัดพระแก้ว เป็นฉบับที่ค่อนข้างสมบูรณ์ รวบรวมสังคายนาสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านก็ต้องไปทอดพระเนตร ทั้งของในประวัติศาสตร์และของยุคใหม่ แสดงว่าทรงเป็นคนที่ทันสมัย

แล้วทูลกระหม่อมปู่ก็มาเสกสมรสกับสมเด็จย่า เห็นได้ว่าครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่ชอบศึกษา มีจดหมายในพิพิธภัณฑ์ที่สมเด็จปู่ทรงมีถึงพระพันวัสสาฯ ว่าเหตุใดจึงรักผู้หญิงคนนี้ เป็นเหตุผลข้อหนึ่ง สอง สาม สมเด็จย่าทรงเป็นเด็กกำพร้า เป็นคนที่ไม่มั่งคั่ง เป็นคนดี มีความคิด สนพระราชหฤทัยการศึกษาตั้งแต่เด็ก ผู้หญิงยุคนั้นถ้าอ่านออกเขียนได้ก็ควรจะเป็นคนที่มีฐานะ ผู้หญิงในครอบครัวที่ยากจนไม่น่าจะอ่านออกเขียนได้ แต่สมเด็จย่าก็ทรงได้เรียนหนังสือ ไม่มีเงินก็ไปร้านหนังสือแล้วขอเขาอ่านฟรี คนขายเห็นว่าเป็นเด็กที่สนใจ ก็ให้อ่านฟรี

สมเด็จย่าทรงเป็นคนฉลาด เรียนพยาบาล ได้ไปเรียนที่อเมริกา ชีวิตก็เปลี่ยนแปลง เป็นคนที่สนใจสิ่งต่างๆ เช่น ลองหัดขับรถยนต์ ใช้กล้องถ่ายภาพ ถ่ายหนัง สนพระราชหฤทัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไปอเมริกาเพื่อเรียนพยาบาล เรียนโภชนศาสตร์ ทรงทำกับข้าวให้ลูกๆ ถึงหลานๆ อาหารต้องถูกหลักโภชนาการ ตอนที่พ่อแม่ไม่อยู่ ไปต่างประเทศ ทรงมาดูแลหลานๆ มื้อเย็นท่านไม่ให้กินของทอดเลย มันฝรั่งทอดนี่ไม่ได้เลย

ที่ทำพิพิธภัณฑ์นี่ไม่ใช่ว่าจะแค่อวดปู่ย่าตาทวดของตัวเอง แต่คิดว่าเป็นตัวอย่างของคนดี คนที่พยายาม ขยันขันแข็ง สมเด็จพระพันวัสสาฯ ชื่อเล่นว่า แม่กลาง ตอนที่รัชกาลที่ 5 ทรงเขียนอะไรๆ ก็อาศัยแม่กลางให้ช่วยดูเรื่องเกษตร เรื่องทำนา เมื่อก่อนมีกองเกษตรอยู่แถวๆ วังสระปทุม

ที่สำคัญ งาน World’s Columbian Exposition ที่ชิคาโก คนที่จัดงานในเซกชันผู้หญิงเชิญท่านให้เป็นกรรมการช่วยคิดว่าจะเลือกผลงานอะไรของสตรีไทยไปแสดง จะขนไปยังไง ก็เป็นที่ตื่นเต้น นิยมชมชอบกันมาก น้าเอาเรื่องนี้มาแสดงด้วย ท่านทรงเป็นแม่งาน ทำเยอะมาก แต่ท่านไม่มีโอกาสได้ไปที่ชิคาโก แต่อย่างว่า เจ้านายผู้หญิงสมัยก่อนใครจะไปอเมริกา สมเด็จย่าไปได้เพราะเป็นคนธรรมดา เป็นคนยากจน แต่พวกเจ้า คนมีตระกูล ไม่ค่อยให้ลูกหลานผู้หญิงไป หวง มันเป็นแบบนั้น

 

ก็เลยทำตำหนักของท่านให้เป็นพิพิธภัณฑ์

ใช่ พยายามจัดเพื่อแสดงประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ ในนั้น ทูลกระหม่อมตาของน้องใหม่ (รัชกาลที่ 9) บอกว่า ต้องมีเจ๊กตู้ เราก็งงว่าเจ๊กตู้คืออะไร คือหาบ มีตู้กระจก ข้างในตู้กระจกมีของเล่นสารพัด พอดีมีคนรู้จักเป็นคนขายของเก่า เขาก็ไปสร้างให้ใหม่แล้วหาของเล่นตะกั่วตามที่ทูลกระหม่อมตาบรรยายมาใส่ แล้วก็มีรูปท่านกับสมเด็จพระพันวัสสาฯ ท่านทรงเรียกเจ๊กตู้มาแล้วให้หลานซื้อของ เป็นประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง ทูลกระหม่อมตา สมเด็จยาย ก็ทรงอภิเษกสมรสที่นี่ ในตำหนักใหญ่ ในนั้นก็มีฉากติดรูปถ่ายใครต่อใครเต็มไปหมดเลย บางคนมาแล้วก็บอกว่า นี่คือคุณป้าของดิฉัน เป็นต้น

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

ใช้เวลาทำพิพิธภัณฑ์กี่ปีคะ น่าจะยากมาก เพราะของก็ชำรุด ต้องหาต้องทำขึ้นมาใหม่

ก็ต้องค้นคว้า ใช้เวลานานมาก มีการสัมภาษณ์คนเก่าๆ เอาข้อมูลมาทำนิทรรศการ ของดั้งเดิมบางอย่างถ้าสั่งจากเจ้าเดิมก็แพงเกินไป ไฟเพดานเอาลงมาแล้วแตก อยู่ข้างบนสูง มองไม่เห็นหรอก เลยให้โอเชียนกลาสเป่ารูปร่างคล้ายๆ กันขึ้นมาใหม่ มองไกลๆ ไม่เห็นหรอก (หัวเราะ) โซฟาก็ขาดหมดแล้ว ไปตามบริษัทเดิมที่ฝรั่งเศสเขาก็ไม่มีแล้ว บางทีเราก็ไม่มีเงินซื้อของใหม่ เราคิดว่าไม่ควรจ่ายเงินไปในสิ่งเหล่านี้ ก็ให้คนจากกรมศิลปากรมาสอนซ่อมของที่ขาดๆ พังๆ ตอนนี้คนที่นี่ทำเองได้แล้ว พยายามใช้ของที่มีอยู่ ถ้วยอยู่ ฝาแตก ก็ไปหาฝาใหม่มา จริงบ้าง เก๊บ้าง ปนๆ กันไป

 

ทำไมน้าถึงชอบประวัติศาสตร์คะ

สมเด็จยาย (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9) เป็นส่วนสำคัญ ทรงอ่านหนังสือให้ฟัง เล่าให้ฟังด้วย ไม่ใช่เรื่องโบราณอย่างเดียว แต่มีเรื่องอะไรต่างๆ ในสมัยนั้นด้วย มีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอย่างเรื่องเขมร อินโดจีน เป็นทฤษฎีโดมิโน สงครามเวียดนาม มีหนังสือประวัติศาสตร์ที่เวียนกันอ่านในครอบครัว

 

สมเด็จยายอ่านหนังสือพวกนี้ให้ฟังหรือคะ

หนังสือพรรค์นี้หมดเลย มีเยอะแยะไปหมด สมเด็จยายทรงสอนเรื่องสมัยโบราณด้วย ได้ฟังได้เรียนหมดเลย เลยทำให้ได้รู้หลายๆ อย่างที่คนอื่นอาจจะมีโอกาสได้รู้น้อย ท่านทรงโปรดประวัติศาสตร์อังกฤษ สนุกมาก สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เอลิซาเบธที่ 1 ก็ได้อ่านกัน ก็มีความรู้พื้นฐานดีพอสมควร ตอนนั้นน้าน้อยออกชนบทเยอะ มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยกว่าเพื่อน แต่เรียนประวัติศาสตร์ง่ายกว่าเพื่อนเพราะเรามีพื้นฐาน อีกอย่างหลายๆ วิชาต้องเข้าเรียนถึงจะได้ แต่ประวัติศาสตร์อ่านเองได้ แถมยังมีนักวิเคราะห์วิจารณ์ประวัติศาสตร์อยู่กับบ้าน ก็จะได้คะแนนดี เพราะวิเคราะห์ได้มากกว่าคนอื่น มีแม่ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9) ช่วยวิเคราะห์ (หัวเราะ)

แม่ก็สนใจประวัติศาสตร์จีน ในวังมีเครื่องถ้วย เครื่องลายคราม มากมายก่ายกอง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา สมัยรัชกาลที่ 5 คนก็ถวายเยอะ กองเป็นภูเขาเลากาในวังหลวง ท่านก็เอามาเช็ดมาดู เอาผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ว่าเป็นสมัยไหน เราก็ได้ฟัง

 

งานวังหน้านฤมิตฯ เราเลือกคนหลายด้านมาเล่าเรื่องวังหน้า ถ้าเป็นน้าน้อยจะเลือกเรื่องราวไหนมาเล่า ผ่านสื่อไหนและใช้วิธีไหนเล่าเรื่องคะ

เล่าได้หลายมุมทั้งประวัติศาสตร์และการเมือง การวางผังเมืองก็น่าสนใจ ลักษณะการก่อสร้างวังหลวงกับวังหน้าใช้ช่างไม่เหมือนกัน ฝ่ายในของวังหลวงสร้างด้วยไม้ใช้ช่างไทย แต่วังหน้าสร้างด้วยปูนอิฐต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากจีน

 

เราจะเห็นความสัมพันธ์ของวังหน้ากับวังหลวงผ่านสถาปัตยกรรม ขนาดช่วงที่รัชกาลที่ 4 ยกฐานะของวังหน้าขึ้น อาคารก็ยังไม่เหมือนวังหลวง เพราะช่างไม่เหมือนกัน วังหน้า วังหลวง เลยมีเอกลักษณ์ที่ต่างกัน

ศิลปินวังหน้ากับศิลปินวังหลวงก็ไม่เหมือนกัน ความสัมพันธ์ระหว่างวังหน้ากับวังหลวงในช่วงรัชกาลที่ 4 พระราชหัตถเลขาที่ทรงเขียนก็บอกอะไรได้เยอะ

 

เขียนถึงกันเป็นภาษาไทยแต่ใช้ตัวอักษรโรมัน

เรียกว่าภาษาอริยกะ เป็นภาษาใหม่เลย บางทีค้นหาเราก็จะเจออะไรอีกเยอะเลย

สมเด็จพระเทพรัตนฯ, คุณใหม่ เจนเซน

ภาพ : นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

CONTRIBUTORS


ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน 🙂

ที่มา : https://readthecloud.co/hrh-princess-sirindhorn/

บทความน่าสนใจ ที่น่าสนใจอื่นๆ