สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ประจำวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้

1.วันพฤหัสบดีที่ 26 มี.ค.2563 (สถานะเวลา 14.00 น.)
– ยอดผู้ป่วยสะสม จำนวน 29,155 ราย (เพิ่มขึ้น 3,922 ราย) ซึ่งเป็นข้อมูลจาก Test PCR
– รักษาอยู่ที่ รพ. 13,904 ราย มีผู้รักษาหายและออกจาก รพ.แล้ว 4,948 ราย
– อาการหนัก 3,375 ราย (ร้อยละ 34 อายุน้อยกว่า 60 ปี และร้อยละ 58 อายุ ระหว่าง 60 – 80 ปี)
– เสียชีวิต 1,696 ราย (เพิ่มขึ้น 365 ราย)โดยมีผู้เสียชีวิตอายุ 16 ปีรายแรกที่แคว้น Île de France ทั้งนี้ พบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) อายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติใน 5 แคว้น ได้แก่ Grand Est (ร้อยละ 29.9), Hauts de France (ร้อยละ 12.8), Bourgogne Franche-Comté (ร้อยละ 18.9), Île de France (ร้อยละ 13.7), และ Corse (ร้อยละ 39.2)

2. อธิบดีกรมสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลในช่วงการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ประจำวันว่า ขณะนี้ ฝรั่งเศสได้เริ่มใช้เทคนิคการประมาณการจำนวนผู้ติดเขื้อ โดยประมวลข้อมูลจากการปรึกษาแพทย์อิสระและแพทย์ฉุกเฉิน (ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับกรณีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่) พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-22 มี.ค.) มีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อในสัปดาห์ที่แล้ว ประมาณ 42,000 ราย

3. สถานการณ์สำคัญในฝรั่งเศส

3.1 ผลกระทบจากมาตรการห้ามออกจากที่พัก

– ด้านเศรษฐกิจ : สถาบันสถิติและการศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจแห่งชาติฝรั่งเศส (Institut national de la statistique et des études économiques-Insee) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการห้ามออกจากที่พักว่า ปัจจุบัน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 35 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลว่า 1 ใน 3 ของลูกจ้างยังคงไปทำงานตามปกติ อีก 1 ใน 3 ทำงานจากที่พัก และ 1 ใน 3 อยู่ในภาวะว่างงานชั่วคราว (chômage partiel) และคาดว่า หากมีการบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักเป็นเวลา 1 เดือน จะส่งผลให้ GDP รายไตรมาสปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 12 และ GDP รายปีปรับตัวลดลงร้อยละ 3 และหากใช้มาตรการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 เดือน ก็อาจส่งผลกระทบทวีคูณเป็นร้อยละ 24 และร้อยละ 6 ตามลำดับ

– ด้านสิ่งแวดล้อม : สนง. ควบคุมคุณภาพอากาศแคว้น Île de France รายงานว่า มาตรการห้ามออกจากที่พักได้ส่งผลให้มลภาวะทางอากาศในกรุงปารีสลดลงร้อยละ 20-30 เพียงสองวันหลังบังคับใช้มาตรการดังกล่าว เนื่องจากมียานพาหนะสัญจรน้อยลงบนท้องถนน และการลดปริมาณเที่ยวบินที่สนามบินทั้งสองแห่งใกล้กรุงปารีส จึงมี nitrogen oxyde ลดลงถึงร้อยละ 60 และมีคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวกลับไม่ส่งผลให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 และ PM10 ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจลดลงแต่อย่างใด เนื่องจากยังคงมีการใช้เครื่องทำความร้อนจำนวนมากตามที่พักอาศัยและการทำเกษตรกรรมในบริเวณใกล้เคียง

3.2 ความร่วมมือระหว่างประเทศ : เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 63 รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสได้ร่วมการประชุม รมว. กต. ประเทศ G7 ผ่านทาง vdo conference (สหรัฐฯ เป็นประธานในปัจจุบัน) โดยได้หารือเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 เป็นหลัก พร้อมทั้งได้แบ่งปันข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละประเทศและมาตรการต่าง ๆ โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันในประเด็นต่อไปนี้

– การเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 และการสนับสนุนจาก WHO ทั้งในแง่ของการคลี่คลายวิกฤติและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขและการวิจัย
– การให้ความช่วยเหลือต่อประเทศที่มีจุดอ่อนสูง อาทิ แอฟริกา ทั้งในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจโดยฝรั่งเศสเสนอให้หารือเรื่องนี้ในการประชุม G20 ด้วย
– ความร่วมมือและการประสานงานเพื่อให้คนชาติที่เดินทางชั่วคราวไป ต่างประเทศสามารถเดินทางกลับมายังประเทศของตนได้ โดยฝรั่งเศสได้นำคนชาติกลับประเทศได้สำเร็จแล้วเกือบ 1 แสนคน และขอให้สนามบินและศูนย์กลางหลัก ๆ ของเส้นทางการบินยังคงเปิดให้บริการ รวมทั้งยังคงไว้ซึ่งเส้นทางการบินต่าง ๆ ด้วย

3.3 ด้านการทหาร : ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝรั่งเศสแถลงเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ว่า หลังการหารือกับรัฐบาลอิรัก กองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม (international coalition) ได้ตัดสินใจปรับกำลังพลทหารที่อิรักและระงับกิจกรรมการอบรมกองกำลังทหารอิรักเป็นการชั่วคราว สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ โดยฝรั่งเศสจะถอนกำลังพลทหารซึ่งปฏิบัติการ “Chammal” (การฝึกอบรมกองทัพอิรัก) จำนวนเกือบ 200 นาย กลับประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ซึ่ง ปท. อื่น ๆ ก็ทยอยถอนพลทหารเป็นการชั่วคราวจากอิรักเช่นกัน อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเช็ค แต่ฝรั่งเศสจะยังคงกองกำลังทหารประจำกองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสมที่คูเวตและกาตาร์ (ทบ.) รวมทั้งยังคงพร้อมร่วมปฏิบัติการในคลองของซีเรีย (ทร.) และพร้อมเสริมกำลังทางอากาศที่ศูนย์ภูมิภาคที่จอร์แดนและกาตาร์ และยังคงดำเนินการปฏิบัติการ “Barkhane” ในแอฟริกา (ซาเฮล) ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ในพื้นที่ อาทิ มาลี ไนเจอร์และบูร์กินาร์ฟาโซ แล้ว

ข่าว-กิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ