สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้

1.วันอังคารที่ 31 มี.ค. 2563 (สถานะเวลา 14.00 น.)
– ยอดผู้ป่วยสะสม จำนวน 52,128 ราย (เพิ่มขึ้น 7,578 ราย) ซึ่งเป็นข้อมูลจากการตรวจ Test PCR
– รักษาอยู่ที่ รพ. 22,757 ราย และรักษาหายออกจาก รพ.แล้ว 9,444 ราย
– อาการหนัก 5,565 ราย (เพิ่มขึ้น 458 ราย) โดยร้อยละ 34 ของผู้ป่วยอาการหนักอายุน้อยกว่า 60 ปี และมี 68 รายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และร้อยละ 60 อายุระหว่าง 60 – 80 ปี
– เสียชีวิตที่ รพ. 3,523 ราย (เพิ่มขึ้น 499 ราย)

ปัจจุบัน ฝรั่งเศสได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยอาการหนักไปยังพื้นที่ที่มีผู้ป่วยอาการหนักจำนวนน้อยกว่า (รวมทั้งใน ตปท. อาทิ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์) รวมจำนวน 288 ราย

2. เมื่อบ่ายวันที่ 31 มี.ค.2563 ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แถลงภายหลังการเยือนโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของ บ. Kolmi-Hopen (บ. ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ที่สุดใน ฝศ.) ที่เมือง Saint-Barthélemy-d’Anjou สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

(1) หน้ากากอนามัย : หน้ากากอนามัยและหน้ากาก FFP2 เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หลายประเทศมีความต้องการสูงในขณะนี้ ก่อนหน้านี้เป็นสินค้าที่สามารถสั่งนำเข้าจาก ตปท. ได้ง่ายจึงไม่เคยมีความจำเป็นต้องกักตุน แต่จากนี้ไปได้เปลี่ยนแนวคิดใหม่โดยเห็นความจำเป็นในการกักตุนสต็อกสินค้ายุทธศาสตร์ประเภทนี้ และได้เพิ่มความระมัดระวังเพื่อการควบคุมและบริหารจัดการสต็อกอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในส่วนของการนำเข้าจาก ตปท.นั้น ได้สั่งซื้อหน้ากากอนามัยจาก ตปท. จำนวน 1 พันล้านชิ้น และขอบคุณ บ. เอกชนและหน่วยงานท้องถิ่นที่ได้ช่วยจัดหาทั้งจากในและนอกประเทศได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องผลิตหน้ากากอนามัยภายในประเทศมากยิ่งขึ้นเพื่อลดการพึ่งพา ตปท.โดยมี บ.ในฝรั่งเศส 4 แห่ง ซึ่งทั้งหมดได้เพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มการจ้างพนักงานแล้วถึงร้อยละ 50 และทำการผลิตตลอด 24 ชม. เป็นผลให้สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้เพิ่มขึ้น 1 เท่าแล้ว กล่าวคือ จากเดิม 3.3 ล้านชิ้น/สัปดาห์ เป็น 10 ล้านชิ้น/สัปดาห์ในสิ้นเดือน เม.ย. และจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปอีกเพื่อลดการพึ่งพา ตปท. ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนอื่น ๆ ที่มิได้เป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยก็ได้หันมาร่วมผลิต อาทิ Intermarché, Michelin, Chargeur และ Faurecia ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ถึง 15 ล้านชิ้น/สัปดาห์ ภายในสิ้นเดือน เม.ย.

ย้ำว่าประสงค์ให้ประชาชนทุกอาชีพได้รับหน้ากากอนามัยอย่างทั่วถึงตามความต้องการ ยกเว้นประเภท FFP2 ซึ่งสงวนไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และได้ทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากประเภทอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐานอีก 85 ประเภท โดยในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้าจะสามารถผลิตได้ 1 ล้านชิ้น/วัน ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดต่อไป

(2) เครื่องช่วยหายใจ: ฝรั่งเศสได้นำเข้าเครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก โดยมีภาคเอกชนยุโรปจำนวนมากเป็นผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ และกำลังพยายามเร่งการผลิตภายในประเทศด้วยโดยมี บ. ผู้ผลิตของฝรั่งเศส ได้แก่ Air Liquide ซึ่งมีโรงงานที่เมือง Antony และได้มีการจัดตั้ง consortium ระหว่าง บ. Schneider electrics, Valéo, PSA และ Air liquide เพื่อผลิตเครื่องช่วยหายใจทั้งเครื่องขนาดใหญ่และเครื่องขนาดเล็กให้ได้ 10,000 เครื่องภายในกลางเดือน พ.ค.

(3) เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ: ปัจจุบัน สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม 40,000 ลิตร/วัน เป็น 500,000 ลิตร/วัน แล้ว และขอบคุณภาคเอกชนและร้านขายยาที่ได้ร่วมกันผลิตและจำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

(4) ยาและอุปกรณ์อื่น ๆ : เป็นสินค้าที่ทั่วโลกต้องการจึงมีการแข่งขันสูง ซึ่งฝรั่งเศสได้สั่งนำเข้ายาและอุปกรณ์เหล่านี้จำนวนมากและได้วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศเองด้วยเช่นกัน

(5) รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 4 พันล้านยูโรเพื่อสั่งซื้อสินค้าทั้งหมด (ยา เครื่องช่วยหายใจและหน้ากากอนามัย) และว่าสิ่งที่ให้ความสำคัญนับจากนี้ไป คือ การเพิ่มกำลังผลิตในฝรั่งเศสและยุโรป (“rebuild European and national [France’s] sovereignty”)ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศ (France unie/ solidarity) เพื่อหลุดพ้นจากภาวะการพึ่งพา ตปท. (independence)

3. สถานการณ์สำคัญในฝรั่งเศส

3.1 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 รมว. เศรษฐกิจและการคลัง และ รมช.ต่างประเทศฝรั่งเศสได้ร่วมกันประกาศแผนให้ความช่วยเหลือบริษัทผู้ส่งออกของฝรั่งเศสด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเตรียมความพร้อมหลังวิกฤติครั้งนี้และรักษาศักยภาพในการแข่งขันโดยเน้น บ. SMEs กล่าวคือ บ. ประเภท PME (petites et les moyennes entreprises มีลูกจ้าง ระหว่าง 10 – 249 คน)และประเภท ETI (entreprises de taille intermédiaire มีลูกจ้าง ระหว่าง 250 – 4,999 คน) ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

(1) การรับประกันการกู้ยืมเงินร้อยละ 90 และ pre-finance โครงการเกี่ยวกับการส่งออกโดยรัฐบาลผ่าน ธ. Bpifrance Assurance Export เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบรับประกันการกู้เงินและ pre-finance
(2) ขยายระยะเวลาการประกันความเสี่ยงต่อความล้มเหลวทางการค้าในบริบทของการแสวงหาลูกค้าใน ตปท. (assurance-prospection) ไปอีก 1 ปี
(3) เพิ่มจำนวนเงินประกันเครดิตการส่งออกระยะสั้นอีก 2 พันล้านยูโร ผ่านกลไก Cap Francexport โดยรวมทุกประเทศในโลก
(4) เพิ่มการให้คำแนะนำและให้ข้อมูลแก่ บ. ผู้ส่งออกโดย Team France Export ซึ่งประกอบด้วย Bpifrance, Business France และหอการค้าและอุตสาหกรรมฝรั่งเศสร่วมกับแคว้นต่าง ๆ และ ทปษ. การค้า ตปท. พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์และมาตรการทางเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในความสนใจของ บ. ผู้ส่งออก

3.2 กระทรวงพื้นที่เขตเมืองและที่พักอาศัย (ministère de la Ville et du Logement) ได้ขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนและประชาชนเสนอที่พักอาศัยชั่วคราวใกล้บริเวณ รพ. บ้านพักคนชรา และศูนย์พักพิงแก่ผู้ยากไร้ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จนท. สังคมและอาสาสมัครที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณดังกล่าวสามารถลดระยะการเดินทางรายวันได้ โดยเฉพาะในแคว้น Ile-de-France, เมือง Lyon, Marseille และ Lille โดย Airbnb ได้จัดระบบ platform Appart Solidaire เพื่อเสนอห้องพักให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ฟรี จำนวน 5,000 แห่งแล้ว และภายในหนึ่งสัปดาห์มีบุคลากรทางการแพทย์จองที่พักดังกล่าวแล้วถึง 11,000 คืน

3.3 สนง.สาธารณสุขแคว้น Grand Est ได้ให้ความเห็นชอบให้เมือง Nancy ทดลองการตรวจการติดเชื้อไวรัส covid-19 เป็นแห่งแรกในฝรั่งเศสแก่ จนท. และผู้สูงอายุทุกคน (จนท. 90 ราย และผู้สูงอายุ 144 ราย) ที่บ้านพักคนชรา l’Ehpad Notre Maison โดยเป็นการตรวจสอบด้วยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสฯ (test de sérologie) ซึ่งจะทำให้สามารถทราบผลว่าผู้ใดยังไม่ติดเชื้อ ผู้ใดกำลังติดเชื้อและผู้ใดเคยติดเชื้อแต่ปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถทำการตรวจสอบครั้งแรกแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ และอีกครั้งหนึ่งในอีก 10 วัน

3.4 SNCF แจ้งว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสารรถไฟเฉลี่ยเพียงคันละ 100 คน โดยยังมีรถไฟ TGV ให้บริการ 42 ขบวนจากเวลาปกติ 700 ขบวน โดยให้บริการไป-กลับวันละ 6 เที่ยว สำหรับเส้นทาง Atlantique /
5 เที่ยวสำหรับเส้นทางตะวันออก / 2 เที่ยวสำหรับเส้นทางทิศเหนือ และ / 5 เที่ยวสำหรับเส้นทางตะวันตกเฉียงใต้

สำหรับเส้นทางระหว่างประเทศ รถไฟ Eurostar ยังคงให้บริการไป-กลับ เส้นทางปารีส-ลอนดอน และบรัสเซลส์-ลอนดอน วันละ 1 เที่ยว (ไม่หยุดจอดที่เมือง Lille) รถไฟ Thalys ยังคงให้บริการไป-กลับ เส้นทางปารีส-บรัสเซลส์ วันละ 1 เที่ยว แต่ไม่มีบริการไปยังเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลีและสเปนแล้ว

ข่าว-กิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ