สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.วันเสาร์ที่ 4 เม.ย.2563 (สถานะเวลา 14.00 น.)
– ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 68,605 (เพิ่มขึ้น 4,267 ราย) และที่บ้านพักคนชรา 21,348 ราย (เพิ่มขึ้น 3,521 ราย) รวมผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 89,953 ราย (เพิ่มขึ้น 7,788 ราย)
– รักษาอยู่ที่ รพ. 28,143 ราย (เพิ่มขึ้น 711 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 15,438 ราย
– อาการหนัก 6,838 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 502 ราย โดยร้อยละ 35 ของผู้ป่วยอาการหนักอายุน้อยกว่า 60 ปี และมี 105 รายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และร้อยละ 60 อายุระหว่าง 60 – 80 ปี
– เสียชีวิตที่ รพ. 5,532 ราย (เพิ่มขึ้น 441 ราย) โดยร้อยละ 82 มีอายุมากกว่า 70 ปี และเสียชีวิตที่บ้านพักคนชรา 2,028 ราย (เพิ่มขึ้น 612 ราย) รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7,560 ราย (เพิ่มขึ้น 1,053 ราย)
2. อธิบดีกรมสาธารณสุขฝรั่งเศสได้ให้ข้อมูลช่วงการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ประจำวันว่า อัตราผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 23 – 28 มี.ค.เพิ่มมากกว่าปกติเป็นร้อยละ 27 โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดใน 6 แคว้น ได้แก่ Grand Est, Île de France, Hauts de France, Bourgogne Franche – Comté, Centre Val de Loire และ Auvergne Rhône-Alpes และได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอาการหนักไปยังพื้นที่ที่มีผู้ป่วยอาการหนักจำนวนน้อยกว่า (รวมทั้งใน ตปท. อาทิ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์) รวมจำนวน 566 ราย
3. สถานการณ์สำคัญในฝรั่งเศส
3.1 หน้ากากอนามัย : เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2563 สภาแพทย์แห่งชาติ ฝศ. (l’Académie nationale de médecine) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่ให้ความเห็นต่อ รัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นสาธารณสุขและการค้นคว้าวิจัยเพื่อการรักษาได้มีความเห็นว่า ประชาชนต้องสวมหน้ากากที่สามารถป้องกันการกระเด็นของละอองน้ำลายของตนเองได้ (un écran anti-postillons-EAP)โดยเฉพาะระหว่างการออกจากที่พักในช่วงการบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พัก และหลังจากยกเลิกมาตรการห้ามออกจากที่พักแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 เพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้ร่วมกับแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขที่ใช้อยูในขณะนี้ด้วย (หมั่นล้างมือ ไอจามในข้อพับศอกใช้กระดาษทิชชู่แบบใช้ครั้งเดียว งดการทักทายด้วยการสัมผัสมือและการห้ามออกจากที่พัก) แต่การสวมหน้ากากดังกล่าวมิได้เป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัส covid-19 จากผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก แต่เป็นเพียงการช่วยป้องกันมิให้ตนเองแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น และย้ำว่ายังคงสงวนหน้ากากประเภท FFP2 และหน้ากากอนามัย (surgical mask) ไว้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมสาธารณสุขได้ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า หากประชาชนประสงค์สวมหน้ากากรัฐบาลก็ส่งเสริมให้สามารถกระทำได้โดยรัฐบาลกำลังเร่งการผลิตหน้ากาก “ทางเลือก” (alternative) เหล่านี้อยู่ ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดการผลิตหน้ากาก EAP ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ http://stop-postillons.fr/
3.2 วิธีการรักษา : ในวันที่ 6 เม.ย. กลุ่ม รพ. กรุงปารีส (APHP) จะเริ่มทำการทดลองรักษาผู้ป่วยอาการหนักโดยใช้พลาสมาของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 ที่รักษาหายแล้วโดยเชื่อว่าภูมิคุ้มกันในพลาสมาของผู้ที่หายจากอาการป่วยอาจใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักได้โดยจะขอรับบริจาคพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายแล้วในแคว้น Ile-de-France, Grand-Est และ Bourgogne-Franche-Comté ประมาณ 50 – 100 คน (คนละ 600 มล.) ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี และหายป่วยแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยจะทดลองรักษาในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก 60 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งจะได้รับการรักษาโดยพลาสมาและอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับพลาสมา เพื่อเปรียบเทียบผล รว. สองกลุ่มและคาดว่าจะทราบผลของการรักษดังกล่าวใน 2-3 สัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ รพ. สองแห่งในกรุงปารีส ได้แก่ รพ. Georges Pompidou และ รพ. Pitié-Salpêtrière ได้รับอนุญาตให้ทดลองรักษาผู้ป่วยโดยใช้เลือดหนอนทะเล (lugworm หรือ sandworm ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Arenicola marina)ซึ่งปกติใช้รักษาอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome-ARDS)หรือใช้รักษาสภาพของอวัยวะที่จะนำไปผ่าตัดเปลี่ยนให้ผู้ป่วย เนื่องจากเลือดของหนอนทะเลดังกล่าวมีปริมาณอ็อกซิเจนมากกว่าเลือดมนุษย์ถึง 40 เท่า และสามารถเข้าได้กับทุกหมู่เลือดของมนุษย์ ซึ่งหากผลการทดลองสำเร็จ คาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนของเครื่องช่วยหายใจและช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยอาการหนักที่แพทย์ไม่สามารถสอดท่อช่วยหายใจในลำคอได้ด้วย ทั้งนี้ เป็นเทคโนโลยีทางชีวภาพที่คิดค้นและผลิตโดย บ. ฝรั่งเศส Hemarina เมือง Morlaix แคว้น Bretagne ซึ่งเพาะเลี้ยงหนอนทะเลและมี dose เลือดหนอนทะเลพร้อมทดลองรักษาแล้ว 5,000 doses และสามารถผลิตเพิ่มเติมได้อีกอย่างค่อนข้างรวดเร็ว โดย รพ. ทั้งสองแห่งจะเริ่มทดลองรักษาผู้ป่วยจำนวน 10 ราย
3.3 การดูแลคนพิการ : เมื่อบ่ายวันที่ 4 เม.ย.2563 รมว. และ รมช.ก.สาธารณสุขได้แถลงเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลคนพิการ (ประมาณ 10 ล้านรายในฝรั่งเศส)ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯได้แก่ (1)การขยายสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือผู้พิการออกไปอีก 6 เดือนโดยอัตโนมัติ (2)การให้ จนท.สามารถให้ความช่วยเหลือที่ที่พักต่อกลุ่มผู้พิการที่ต้องได้รับการดูแลในศูนย์รักษาแต่ศูนย์ฯ ต้องปิดทำการ (3)ให้ผู้พิการสามารถรับสิทธิของการถูกพักงานโดยยังได้รับเงินเดือน (chômage partiel) (4)การปรับการสอนและบทเรียนสำหรับเด็กพิการ จำนวน 430,000 ราย (5)อำนวยความสะดวกด้านการหาและการเสนอความช่วยเหลือสำหรับคนพิการจากผู้อาศัยในละแวกเดียวกัน ที่เว็บไซต์ https://solidaires-handicaps.fr/(6)การจัดทำแบบฟอร์มขออนุญาต… โดยหากเป็นผู้พิการทางสายตาไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มแต่ให้แสดงบัตรประจำตัวของผู้พิการแก่ จนท. ตร. (7)ความต่อเนื่องของการได้รับการรักษาที่จำเป็นของผู้พิการทั้งโดยแพทย์และ paramedical (8)หากมีความจำเป็นที่ผู้พิการต้องได้รับการรักษาตัวที่ รพ.โดยป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 ห้ามมิให้สถานพยาบาลปฏิเสธรับผู้ป่วยด้วยเหตุผลว่าเป็นผู้พิการเท่านั้น และให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป และ (9)จะจัดทำข้อมูลแนวปฏิบัติสำหรับ จนท.รถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อสามารถรับมือกับผู้ป่วยที่มีความพิการได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น