สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ประจำวันอังคารที่ 28 เมษายน 2563

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้

1.สถิติวันอังคารที่ 28 เม.ย. 2563 (เวลา 14.00 น.)

– ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 126,835 ราย (เพิ่มขึ้น 1,065 ราย) ซึ่งรวมข้อมูลผู้ที่พบการติดเชื้อจากการตรวจ test PCR ในบ้านพักคนชราแล้ว แต่ไม่รวมผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่มิได้ทำการตรวจ test

– รักษาอยู่ที่ รพ. 27,484 ราย นับเป็นวันที่ 14 ติดต่อกันที่มีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ. น้อยลง (571 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 46,886 ราย (เพิ่มขึ้น 1,373 ราย)

– อาการหนัก 4,387 ราย นับเป็นวันที่ 20 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลงจากวันก่อนหน้า (จำนวน 221 ราย)

– เสียชีวิตที่ รพ. 14,810 ราย (เพิ่มขึ้น 313 ราย) เสียชีวิตที่บ้านพักคนชราและที่ศูนย์การแพทย์สังคม (établissements médico-sociaux) 8,850 ราย (เพิ่มขึ้น 54 ราย) **รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 23,660 ราย ** (เพิ่มขึ้น 367 ราย)
————————-
2. การเสนอแผนผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พักต่อสภาผู้แทนฯ

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 เวลา 15.00 น. นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้เสนอแผนยุทธศาสตร์การผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พัก (สำหรับภายหลังวันที่ 11 พ.ค.) ต่อสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนการของมาตรา 50-1 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสซึ่งบัญญัติให้รัฐบาลหรือกลุ่มสมาชิกรัฐสภา สามารถเสนอให้รัฐบาลแถลงเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยมีการอภิปรายหลังการแถลง และอาจกำหนดให้มีการลงมติต่อการแถลงดังกล่าวได้ (แต่มิใช่การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะลงมติได้ในคืนนี้) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

2.1 นรม. ย้ำว่า จากนี้ไปจะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวันโดยป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัส covid-19 เนื่องจากยังไม่มียารักษาและวัคซีน และต้องยอมรับว่าเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดระลอกที่สองได้ ทั้งนี้ จะต้องปรับมาตรการต่าง ๆ ตามพัฒนาการของการแพร่ระบาด และตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
————————
2.2 แผนยุทธศาสตร์การผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พัก ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสามประการ ได้แก่ การป้องกันการติดเชื้อ การตรวจสอบการติดเชื้อ และการแยกตัวเมื่อติดเชื้อ

(1) การป้องกันการติดเชื้อ : ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขโดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมทั้งต้องมีการสวมหน้ากากในบางสถานที่ ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถมีหน้ากากอย่างทั่วถึง อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าและการเพิ่มการนำเข้าหน้ากาก นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรท้องถิ่นให้จัดหาหน้ากากให้ประชาชนในพื้นที่ (ร้อยละ 50 ของราคาอ้างอิงของหน้ากาก) และขอให้บริษัทต่าง ๆ จัดหาหน้ากากให้พนักงาน โดยรัฐบาลและองค์กรท้องถิ่นจะจัดหาหน้ากากอนามัยให้แก่บุคลากร โดยเฉพาะผู้ที่ต้องให้บริการประชาชน และผู้ว่าราชการจะได้รับงบประมาณช่วยเหลือการจัดหาหน้ากากให้แก่เมืองขนาดเล็กที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ รวมทั้งจะจัดหาและแจกจ่ายหน้ากากให้แก่ผู้ยากไร้ นอกจากนี้ จะมีการเปิด E-commerce platform ของการไปรษณีย์ฝรั่งเศสจำหน่ายหน้ากากให้แก่ประชาชนด้วย

(2) การตรวจสอบการติดเชื้อ : รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะสามารถทำการตรวจสอบการติดเชื้อได้อย่างน้อย 7 แสนครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากคาดว่าตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 1,000-3,000 รายต่อวัน จึงได้คำนวณให้มี test kits ปริมาณเพียงพอต่อการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ และได้เพิ่มความสามารถการตรวจสอบในห้อง lab ต่าง ๆ แล้ว และให้ประกันสังคมฝรั่งเศสครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการติดเชื้อเต็มจำนวนด้วย นอกจากนี้ จะต้องจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำการ contact tracing โดยเฉพาะเพื่อให้ผู้ใกล้ชิดกับผู้ตรวจพบการติดเชื้อ ได้เข้ารับการตรวจสอบการติดเชื้อด้วย

(3) การแยกตัวเมื่อติดเชื้อ : จะต้องสามารถแยกตัวผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุดเพื่อระงับการแพร่ระบาด ทั้งนี้ การแยกตัวไม่ใช่การลงโทษ และอยู่บนความรับผิดชอบส่วนตน โดยรัฐบาลเปิดโอกาสให้เลือกได้ว่าจะแยกตัวกับครอบครัวทั้งหมด หรือที่โรงแรมโดยลำพัง แต่ในชั้นนี้ ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการ contact tracing หรือไม่ อาทิ application “Stop covid” ซึ่งจะมีประโยชน์เพิ่มเติมต่อการ contact tracing โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีฝูงชนจำนวนมากรวมตัว เช่น ในระบบขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวยังไม่พร้อมใช้งานในวันนี้ จึงยังไม่สามารถให้อภิปรายและลงมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แต่จะมีการอภิปรายและลงมติเรื่องนี้เป็นการเฉพาะต่อไปเมื่อระบบพร้อมใช้งานแล้ว
————————-
2.3 รัฐบาลจะพิจารณาบังคับใช้แผนดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปรับตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่

(1) การปรับมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป : หากก่อนถึงวันที่ 11 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 3,000 ราย/วัน ก็จะไม่มีการผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พักในวันที่ 11 พ.ค. หรืออาจพิจารณามีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น 🚷แต่หากทุกอย่างมีความพร้อม ก็จะดำเนินการตามแผนฯ จนถึงวันที่ 2 มิ.ย. ก่อนที่จะพิจารณามาตรการสำหรับช่วงวันที่ 2 มิ.ย. จนถึงฤดูร้อน โดยจะมีการประเมินความพร้อมในการเปิดร้านอาหาร cafés และบาร์ ในช่วงปลาย พ.ค.

(2) การปรับมาตรการแต่ละพื้นที่ : จะมีการพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสของแต่ละพื้นที่ (รายจังหวัด) โดยคำนึงถึง (1) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (2) จำนวนผู้ป่วยอาการหนักทั้งหมด (ไม่ใช่เฉพาะโรค covid-19) และ (3) ความพร้อมของระบบตรวจสอบการติดเชื้อ โดยจะสามารถแยกพื้นที่ได้สองประเภท คือ พื้นที่สีเขียว💚 (มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่มาก) และพื้นที่สีแดง 🔴 (ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจำนวนมาก) โดยอธิบดีกรมสาธารณสุขจะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวัน ตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้ (30 เม.ย.) และรัฐบาลจะตัดสินใจว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สีเขียวหรือสีแดงในวันที่ 7 พ.ค.2563
————————
2.4 รายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์การผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พัก

(1) สถานศึกษา
– ให้มีการทยอยเปิดสถานศึกษาระดับอนุบาลและประถมศึกษาตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. ทั่วประเทศโดยอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ
– สำหรับ จ.ในพื้นที่สีเขียว สามารถพิจารณาเปิดเรียนชั้น ม. ต้น โดยเริ่มจากชั้น 6ème (เทียบเท่า ป. 6) และ 5ème (เทียบเท่า ม. 1) ได้ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.
– ในช่วงปลายเดือน พ.ค. จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการเปิด รร. ม. ปลายอีกครั้งหนึ่ง โดยจะพิจารณาให้สามารถเปิดการเรียนการสอนสายอาชีพได้ก่อน
– ไม่ให้มี นร. มากกว่า 15 คนต่อชั้นเรียน
– ครูและบุคลากรทุกคนจะต้องสวมหน้ากาก แต่เด็กอนุบาลและเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ต้องสวมหน้ากาก ส่วนชั้นประถม อาจให้ นร. บางคนสวมหน้ากากได้ในบางกรณี อาทิ หากมีอาการป่วยระหว่างวันและรอผู้ปกครองมารับกลับ และ นร. ชั้น ม. ต้น จะต้องสวมหน้ากาก โดยสถานศึกษาต้องจัดหาหน้ากากให้แก่ นร. ที่ไม่มีหน้ากากด้วย
– ให้ยังคงทำการสอนทางไกล หรือทำการสอนในสถานที่อื่น ๆ ที่สามารถรองรับ นร. โดยเคารพแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขได้ดี
– ให้ความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการในเรื่องนี้แก่องค์กรท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่
– ให้สถานรับเลี้ยงเด็ก (crèche) เปิดให้บริการได้ และสามารถรับดูแลเด็กได้เกินกลุ่มละ 10 คน โดยต้องไม่ให้เด็กแต่ละกลุ่มต้องใกล้ชิดกัน และเห็นควรให้ priority ต่อผู้ปกครองที่ต้องทำงานทั้งคู่ ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว บุคลากรทางการแพทย์และครู

(2) การทำงาน
– ขอให้ยังคงทำงานจากที่พักไปอีกอย่างน้อยอีก 3 สัปดาห์ เพื่อให้มีผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนให้น้อยที่สุด หรือหากไม่สามารถทำงานจากที่พักได้ ให้จัดเวลาทำงานให้พนักงานไม่ต้องทำงานพร้อมกัน
– ก. รง. จะทยอยเผยแพร่แนวปฏิบัติทาง สธ. ของแต่ละสาขาอาชีพ โดยหลักทั่วไปคือต้องสวมหน้ากากหากไม่สามารถเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 ม. รว. กันได้
– ขยายระยะเวลามาตรการพักงานโดยยังได้รับเงินเดือนอยู่ (Chômage partiel) ถึงวันที่ 1 มิ.ย. (ยกเว้นสาขาที่ยังเปิดทำการไม่ได้)

(3) ร้านค้า
– ร้านค้าทุกประเภทสามารถเปิดให้บริการได้ (ยกเว้น ร้านอาหาร cafés และ bars) และอนุญาตให้ตลาดเปิดให้บริการได้ ทั้งตลาดในพื้นทิปิดและพื้นที่เปิด เว้นแต่ว่า นายกเทศมนตรีหรือผู้ว่าราชการ จ. เห็นว่าการเปิดตลาดในพื้นที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติทาง สธ. ที่ดีพอ
– ต้องสวมหน้ากากหากไม่สามารถเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 ม.ระหว่างกันได้
– สามารถขอให้ลูกค้าสวมหน้ากากก่อนเข้าร้านได้
– ผู้ว่าราชการ จ. สามารถห้ามศูนย์การค้าที่มีพื้นที่มากกว่า 40,000 ตร. ม. เปิดให้บริการได้ และอาจพิจารณาอนุญาตให้เปิดได้เฉพาะแผนกสินค้าอาหาร

(4) คมนาคม
– เป็นเรื่องยากที่จะเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 ม.ระหว่างกันในระบบขนส่งสาธารณะ จึงได้พยายามให้เพิ่มจำนวนรถสาธารณะให้บริการ และส่งเสริมการทำงานจากที่พัก โดยขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนระหว่างชั่วโมงเร่งด่วนหากมิได้จะเดินทางไปทำงาน
– ต้องสวมหน้ากากขณะใช้บริการรถไฟใต้ดินและรถเมล์ โดยต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ มีการเว้นที่นั่งไม่ให้นั่งติดกัน
– ต้องสวมหน้ากากในแท็กซี่และรถ VTC ที่ไม่มีแผ่นพลาสติกป้องกันระหว่างคนขับและผู้โดยสาร
– จำกัดการเดินทางระหว่างแคว้น/จ. เพียงแค่ในกรณีต้องเดินทางไปทำงานและกรณีมีเหตุจำเป็นทางครอบครัว และจะมีการลดเที่ยวรถไฟระหว่างจังหวัด

(5) การดำเนินชีวิตประจำวันและการสังสรรค์
– ขอให้ประชาชนมีความรับผิดชอบส่วนตน และขอให้คนกลุ่มเสี่ยงระมัดระวังเป็นพิเศษ
– จะสามารถเดินทางในเมืองได้โดยไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตออกจากที่พัก ยกเว้นกรณีที่จะต้องเดินทางไกลกว่า 100 กม. ยังคงต้องกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตเดินทาง (ทำงานหรือเหตุจำเป็นทางครอบครัว) เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการเดินทางระหว่าง จ. เพื่อการพักผ่อน
– สามารถออกกำลังกายได้ แต่ยังไม่สามารถเล่นกีฬาในสถานที่ปิด หรือกีฬากลุ่ม หรือกีฬาที่ต้องมีการสัมผัสกันได้
– เปิดสวนสาธารณะได้เฉพาะในพื้นที่สีเขียวเท่านั้น
– ปิดชายหาดถึงวันที่ 1 มิ.ย. เป็นอย่างน้อย
– ให้ห้องสมุด médiathèque และพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กเปิดให้บริการได้ (โดยต้องเคารพแนวปฏิบัติทาง สธ. อย่างเคร่งครัด) แต่ยังไม่อนุญาตให้พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ โรงละครและห้องแสดงคอนเสิร์ตเปิดให้บริการ
– ไม่อนุญาตให้ห้องจัดเลี้ยงและห้องอเนกประสงค์ให้บริการอย่างน้อยถึงวันที่ 2 มิ.ย.
– ไม่อนุญาตให้จัด event ใหญ่ ๆ (มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5,000 ราย) ทั้งด้านวัฒนธรรม กีฬา festival และมหกรรมแสดงสินค้า จนถึงอย่างน้อยเดือน ก.ย.
– อนุญาตให้สถานที่ทางศาสนาเปิดทำการได้ แต่ขอให้ยังไม่จัดพิธีกรรมทางศาสนาก่อนวันที่ 2 มิ.ย. แต่สามารถจัดงานศพได้โดยมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 20 คน
– อนุญาตให้เปิดสุสาน
– ให้เลื่อนการจัดงานแต่งงาน ยกเว้นกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
– ไม่อนุญาตให้ทำการชุมนุมใด ๆ ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคลเกินกว่า 10 คน
———————-
2.5 รบ. จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายเดือน พ.ค. และมีกำหนดเสนอ ร่าง กม. ฉบับใหม่เพื่อขยายระยะเวลาภาวะฉุกเฉินทาง สธ. ออกไปอีกสองเดือนจนถึงวันที่ 23 ก.ค. (แก้ไข กม. ฉบับเมื่อวันที่ 23 มี.ค.) ซึ่งในระหว่างภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขนี้ รัฐบาลจะสามารถออก พรก. กำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤติทางสาธารณสุข อาทิ การอนุญาตให้ทีมงาน contact tracing สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลได้ และการจำกัดการเดินทางระหว่างแคว้น/จ. โดยคาดว่า ครม. จะสามารถพิจารณาร่าง กม. ฉบับดังกล่าวในวันเสาร์ที่ 2 พ.ค. และรัฐสภาจะสามารถพิจารณาร่าง กม. ในช่วงสัปดาห์หน้า
————————
2.6 แม้ว่ารัฐบาลไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องเสนอแผนดังกล่าวต่อรัฐสภา แต่ได้เลือกที่จะเสนอแผนฯ ต่อสภาผู้แทนราษฏรตามมาตรา 50-1 ของ รัฐธรรมนูญ และให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์แผนดังกล่าวได้ โดยรัฐบาลจะรับฟังความเห็นของผู้แทนท้องถิ่นและผู้แทนกลุ่มนายจ้างและลูกจ้างต่อไป เพื่อประกอบการพิจารณาแผนฯ ทั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย แม้ในภาวะวิกฤติทางสาธารณสุข

ข่าว-กิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ