ศาลไทยสั่งปรับเรือประมงนอกน่านน้ำจำนวน ๓ ลำ เป็นมูลค่ากว่า ๑๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในฐานทำการประมงผิดกฎหมาย

            เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้เรือยู่หลง ๑๒๕ เรือยู่หลง ๖ และเรือฮงชิฟู ๖๘ มีความผิดตาม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ใน ๓ ข้อกล่าวหา ได้แก่ (๑) ฝ่าฝืนประกาศของกรมประมงที่กำหนดให้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงนอกน่านน้ำกลับเข้าเทียบท่าภายในเวลาที่กำหนด (๒) ทำประมงในน่านน้ำของรัฐต่างประเทศและทะเลหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต และ (๓) เจ้าของเรือใช้คนประจำเรือ ซึ่งไม่มีหนังสือคนประจำเรือ โดยศาลตัดสินสั่งปรับบริษัทเรือและกรรมการบริษัทเป็นเงินรวม ๑๓๐,๔๖๓,๐๐๐ บาท พร้อมโทษจำคุกสูงสุด ๑ ปี ๑๕ เดือน นอกจากนี้  เรือทั้ง ๓ ลำ ยังถูกลงโทษมาตรการทางปกครอง ได้แก่ (๑) ยึดเครื่องมือทำการประมงและสัตว์น้ำ (๒) กักเรือไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด (๓) ประกาศขึ้นเป็นเรือประมงผิดกฎหมายตามมาตรา ๑๑๖ ของ พ.ร.ก. การประมงฯ และ (๔) ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ โดยกรมประมงได้นำสัตว์น้ำที่ยึดได้ออกขายทอดตลาดด้วยแล้ว

ในช่วงต้นปี ๒๕๕๙ ทางการไทยนำโดยกองทัพเรือ ได้เข้าสกัดจับเรือทั้ง ๓ ลำข้างต้น พร้อมด้วยเรืออีก ๓ ลำ ได้แก่ มุกอันดามัน ๐๑๘ มุกอันดามัน ๐๒๘ และเซริบู โดยเรือทั้ง ๖ ลำ เป็นเรืออวนลากจับปลาทูนา ซึ่งทำการประมงผิดกฎหมายในมหาสมุทรอินเดีย โดยเรืออีก ๓ ลำที่เหลือ ยังคงรอการตัดสินคดีของศาลชั้นต้น

ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ไทยได้จับกุมและดำเนินคดีเรือประมงนอกน่านน้ำทั้งสิ้น ๗๙ คดี (๖๔ ลำ) คดีถึงที่สุดไปแล้ว ๕๑ คดี คิดเป็นร้อยละ ๖๔ ของคดีประมงนอกน่านน้ำทั้งหมด นอกจากนี้ ไทยยังได้ดำเนินคดีเรือประมงไทยในน่านน้ำและเรือต่างชาติทั้งสิ้นรวม ๑,๐๖๕ คดี โดยมีสถิติจับกุมเรือต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทยรวม ๑๘๔ ลำ คดีถึงที่สุดแล้ว ๘๑๗ คดี คิดเป็นร้อยละ ๗๗ ของคดีทั้งหมด

นอกจากนี้  ไทยยังได้ใช้มาตรการทางปกครองควบคู่ไปกับโทษทางอาญา โดย ณ ปัจจุบันคณะกรรมการมาตรการทางปกครองได้พิจารณาคดีไปแล้วทั้งสิ้น ๒๓๙ คดี ประกอบด้วยคดีเรือประมงนอกน่านน้ำ ๖๖ คดี  เรือประมงไทย ขนาด ๓๐ ตันกรอสหรือมากกว่า ๑๐๓ คดี คดีเรือประมงไทย ขนาดต่ำกว่า ๓๐ ตันกรอส  ๖๗ คดี โดยมีมาตรการลงโทษตามลำดับ ตั้งแต่การกักเรือ ยึดเครื่องมือทำการประมงและสัตว์น้ำ การเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมง ไปจนถึงการสั่งปรับผู้กระทำผิด ซึ่งมีจำนวนเงินที่สั่งปรับไปแล้วรวมมากกว่า ๔๓ ล้านบาท

ปัจจุบัน ไทยพยายามที่จะเร่งรัดการพิจารณาคดีให้รวดเร็วขึ้น โดยล่าสุดศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๑ กำหนดให้จัดตั้งองค์คณะพิเศษขึ้น 2 คณะ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีการทำประมงผิดกฎหมายเป็นการเฉพาะ และให้ถือเป็นคดีสามัญพิเศษ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาแล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน นับแต่วันฟ้อง และในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว จะต้องคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดว่า มีลักษณะเป็นเครือข่ายหรือองค์กรอาชญากรรมหรือเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ และความเสียหายมีผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมเพียงใดด้วย เหล่านี้ คือความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการป้องปรามการทำประมงผิดกฎหมาย อันเป็นตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. การประมงฯ ต่อไป

 

ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมที่น่าสนใจ ที่น่าสนใจอื่นๆ