สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ประจำวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส 🇫🇷 ดังนี้

1.สถิติวันศุกร์ที่ 15 พ.ค. 2563 (เวลา 14.00 น.)

– ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 141,919 ราย (เพิ่มขึ้น 563 ราย)

– รักษาอยู่ที่ รพ. 19,861 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 438 ราย และเป็นวันที่ 31 ติดต่อกันที่มีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ. น้อยลงจากวันก่อนหน้า (602 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 60,448 ราย (เพิ่มขึ้น 892 ราย)

– อาการหนัก 2,203 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 64 ราย และนับเป็นวันที่ 37 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลงจากวันก่อนหน้า (จำนวน 96 ราย)

– เสียชีวิตที่ รพ. 17,342 ราย เสียชีวิตที่บ้านพักคนชราและที่ศูนย์การแพทย์สังคม (établissements médico-sociaux) 10,187 ราย **รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 27,529 ราย (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 104 ราย) **

หมายเหตุ : ก.สาธารณสุขได้ปรับแก้ไขข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในวันก่อนหน้านี้ และปรับยอดผู้เสียชีวิตที่บ้านพักคนชราซึ่งรายงานตัวเลขต่ำกว่ายอดรวมของวันก่อนหน้านี้ โดยมิได้อธิบายเหตุผล

2. ประธานาธิบดีตรวจเยี่ยม รพ.และบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 ประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมด้วย รมว. สาธารณสุข ได้เดินทางเยือน รพ. la Pitié-Salpêtrière กรุงปารีส เพื่อหารือกับคณะแพทย์และสหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับสภาพการทำงานใน รพ. ที่ย่ำแย่ลง (อาทิ รพ. ถูกตัด งปม. และการขาดแคลนหน้ากากอนามัยใน รพ.) และได้เยือนศูนย์ตรวจหาเชื้อไวรัส covid-19 ซึ่งประธานาธิบดีได้ให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์หลุดพ้นจากความยากจน และยอมรับว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายปฏิรูประบบ รพ. ที่ผิดพลาดเมื่อสองปีที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรปฏิรูปตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้วจึงจะเห็นผลได้ดีมากกว่า ทั้งนี้ ยังคงเห็นถึงความสำคัญในการจัดระบบ รพ. ภาครัฐใหม่ ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะลงทุนในเรื่องนี้

3. มาตรการช่วยเหลือด้านการเช่าที่พักอาศัย

นาย Ian Brossat รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส รับผิดชอบเรื่องที่พักอาศัย แจ้งว่ากรุงปารีสได้หารือกับผู้ให้เช่าที่พักอาศัยเพื่อสังคม 3 แห่ง ได้แก่ Paris Habitat, la régie immobilière de la Ville de Paris (RIVP) และ Elogie Siemp และได้ตกลงขยายระยะเวลาของ trêve hivernale (ระยะเวลาที่ไม่สามารถไล่ผู้เช่าออกจากที่พักได้) ไปจนถึงปลายเดือน ต.ค. 2563 (เพิ่มเติมจากที่รัฐบาลได้ประกาศขยายระยะเวลาดังกล่าวจนถึงวันที่ 10 ก.ค. แล้ว)

การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นผลให้ผู้เช่าไม่สามารถไล่ผู้เช่าที่ค้างค่าเช่าออกจากที่พักได้จนถึงปลายเดือน มี.ค. 2564 เนื่องจากจะชนกับการเริ่มระยะเวลาของ trêve hivernale ช่วงถัดไป (1 พ.ย. 63 – 31 มี.ค. 2564) และสามารถผ่อนชำระค่าเช่าที่พักได้มากกว่าหนึ่งปี เพื่อช่วยผ่อนเบาภาระทางการเงินของผู้ด้อยฐานะซึ่งเช่าที่พักประเภทนี้ในกรุงปารีสจำนวนประมาณ 200,000 แห่ง แต่ไม่รวมถึงผู้ที่ถูกให้ออกจากที่พักเนื่องจากได้ก่อกวนและสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีครอบครัว 7,500 ครอบครัวที่พักอาศัยในที่พักประเภทนี้ประสบปัญหาสูญเสียรายได้ในช่วงมาตรการ lockdown และไม่สามารถชำระค่าเช่าได้

4. ฝรั่งเศส-สเปน เจรจาเรื่องมาตรการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ

หลังจากที่สเปนได้ประกาศให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ (รวมทั้งคนสัญชาติสเปน) ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน โดยสามารถออกจากที่กักตัวได้เพื่อซื้ออาหาร เดินทางไปรับการรักษาหรือกรณีจำเป็นอื่นเท่านั้น ยกเว้นผู้ที่ทำงานข้ามชายแดน ผู้ประกอบอาชีพในระบบขนส่ง (ทางบก ทางน้ำและทางอากาศ) และบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีกำหนดบังคับใช้มาตรการดังกล่าวจนถึงวันที่ 24 พ.ค. แต่อาจขยายระยะเวลาได้ นั้น สำนักประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แถลงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ว่า ฝรั่งเศสจะดำเนินการกักตัวผู้ที่เดินทางจากสเปนเช่นเดียวกัน ยกเว้นผู้ที่ทำงานข้ามชายแดนและกรณียกเว้นอื่น ๆ เพื่อเป็นการประติบัติต่างตอบแทน แต่ยังมิได้ระบุว่าจะเริ่มมาตรการดังกล่าวเมื่อใดอย่างชัดเจน

ขณะนี้ ฝรั่งเศสอยู่ระหว่างการเจรจาทวิภาคีในประเด็นนี้กับสเปน ซึ่งฝรั่งเศสไม่ประสงค์มีมาตรการดังกล่าวกับสเปน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีผู้เดินทางระหว่างฝรั่งเศส-สเปนจำนวนมากนัก โดยมีเพียงผู้ที่ทำงานข้ามแดนและผู้ที่ประกอบอาชีพในระบบขนส่ง เนื่องจากประเทศเกือบทั้งหมดในอียูยังคงมีข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ โดย ในวันที่ 15 มิ.ย.ผู้นำประเทศต่าง ๆ ของอียูจะได้หารือเกี่ยวกับการพิจารณาเปิดพรมแดนภายในของประเทศอียู-เขต Schengen และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ของแต่ละประเทศในขณะนั้นด้วย

5. ผลกระทบของวิกฤต covid -19 ต่ออุตสาหกรรมการบิน

วิกฤติ covid-19 ส่งผลกระทบในทางลบแก่ บ. ยักษ์ใหญ่ในสาขาอุตสาหกรรมการบินทั้งสองในโลก แต่คาดว่า บ. Boeing จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า บ. Airbus เนื่องจากมีผู้สั่งซื้อเครื่องบิน Boeing ลดลงเป็นอย่างมากอยู่แล้วก่อนหน้านี้หลังอุบัติเหตุเครื่องบิน 737 Max นอกจากนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association-IATA) ได้ประเมินว่าการเดินทางโดยเครื่องบินจะกลับมาเป็นปกติในปี 2566 ซึ่งจะส่งผลให้มีการสั่งซื้อเครื่องบินลดลงเป็นอย่างมาก รวมทั้งจะมีการยกเลิกการสั่งซื้อเครื่องบินก่อนหน้านี้ด้วย เนื่องจากหลายสายการบินอาจล้มละลายหรือไม่มีเงินหมุนเวียนพอที่จะชำระค่าเครื่องบินลำใหม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาอุตสาหกรรมการบินเห็นว่า สายการบินต่าง ๆ จะยังไม่มีความจำเป็นซื้อเครื่องบินลำใหม่ในอีกสี่ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน มีผู้ยกเลิกสั่งซื้อเครื่องบินจาก บ. Boeing แล้ว 791 ลำ (เหลือเพียง 4,834 ลำ) ในขณะที่มีผู้สั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมจาก บ. Airbus 163 ลำ (รวมเป็น 7,645 ลำ) และล่าสุด สายการบิน Delta ได้ประกาศเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ว่าจะเลิกใช้เครื่องบิน Boeing 777 และจะทำการบินระยะทางไกลโดยเครื่องบิน A330 และ A350-900 เท่านั้น เนื่องจากประหยัดน้ำมันและคุ้มทุนมากกว่า เป็นผลให้ บ. Boeing มีแผนที่จะเลิกจ้างพนักงานในสาขาการบินพาณิชย์แล้วถึงร้อยละ 15 (พนักงานประมาณ 12,000 คน) ในขณะที่ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการจาก บ. Airbus ว่าจะมีมาตรการเลิกจ้างพนักงานเช่นเดียวกันหรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า บ. Airbus อาจต้องเลิกจ้างพนักงานประมาณร้อยละ 7.5 – 10 ของจำนวนพนักงานทั่วโลก ✈️

ข่าว-กิจกรรม ที่น่าสนใจอื่นๆ